วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

เลนส์ภาพถ่ายโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 5 ประเภท

เลนส์ภาพถ่ายโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ตามขนาดความยาวโฟกัส คือ

1. เลนส์ธรรมดาหรือเลนส์มาตรฐาน (Normal lens or Standard lens)

การกำหนดความยาวโฟกัสของเลนส์มาตรฐานประจำกล้องแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน เช่น กล้อง 35 มม. ที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ เลนส์จะมีความยาวโฟกัส ประมาณ 38 – 45 มม. ส่วนกล้อง 35 มม. สะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (SLR) ที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ เลนส์มาตรฐานจะมีความยาวโฟกัสประมาณ 55 – 58 มม. ซึ่งมีมุมในการรับภาพประมาณ 53 องศา ซึ่งใกล้เคียงกับการมองเห็นของสายตามนุษย์ ส่วนเลนส์มาตรฐานสำหรับกล้องที่ใช้ฟิล์มขนาด 120 จะมีความยาวโฟกัส ระหว่าง 75 – 90 มม.

1. เลนส์มุมกว้าง (Wide – angle lens)

เลนส์มุมกว้างได้แก่ เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสั้นกว่าเลนส์มาตรฐาน เช่น เลนส์ที่มีความยาวโฟกัส 35 มม., 28 มม., 24 มม. , 16 มม. เป็นต้น สามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก คือ

2.1 เลนส์มุมกว้างธรรมดา (Moderate Wide angle) ได้แก่ เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสระหว่าง 25 – 40 มม.

2.2 เลนส์มุมกว้างมาก รับภาพได้ตรง (Rectilinear super wide) ได้แก่ เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสระหว่าง 15 – 24 มม.

2.3 เลนส์มุมกว้างมาก รับภาพบิดโค้ง (Semifish eye super wide) ได้แก่ เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสระหว่าง 15 – 24 มม. แต่ภาพที่ได้จะบิดโค้ง

2.4 เลนส์มุมกว้างพิเศษ รับภาพได้โค้งกลม เช่น เลนส์ตาปลา (Fish eye lens) เป็นเลนส์ ที่มีความยาวโฟกัสสั้นมาก เช่น 6 มม. หรือ 8 ทท. เป็นต้น

เลนส์มุมกว้างเป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพในสถานที่แคบ ๆ ซึ่งสามารถรับภาพได้กว้างลึกและกว้างไกลเก็บภาพต่าง ๆ ได้มาก และจะได้ภาพที่มีช่วงความชัดมากกว่าเลนส์ชนิดอื่น ๆ แต่สัดส่วนของภาพจะผิดเพี้ยน รูปทรงบิดเบี้ยวและโค้งงอ (Distortion) ยิ่งเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสั้นมาก ๆ ความผิดเพี้ยนของภาพก็ยิ่งมีมาก เช่น เลนส์ตาปลา ความยาวโฟกัส 8 มม. หรือ 6 มม. ภาพที่ได้จะมีลักษณะเป็นวงกลม ภาพจะมีความบิดเบือนมาก ยกเว้นจุดตรงกลางภาพเท่านั้น

1. เลนส์ถ่ายไกล (Telephoto lens)

เลนส์ถ่ายไกลเป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสยาวกว่าเลนส์มาตรฐาน เช่น เลนส์ที่มีความยาวโฟกัส 135 มม., 500 มม., 100 มม., 2000 มม. เป็นต้น เลนส์ถ่ายไกลสามารถปรับโฟกัสภาพได้เพียงระยะห่างระยะหนึ่งจากฟิล์มเท่านั้น เป็นเลนส์ที่ประกอบด้วยกลุ่มของชิ้นเลนส์หลายกลุ่มจัดวางเรียงให้เลนส์นูนที่มีโฟกัสยาวอยู่ข้างหน้าเลนส์เว้าที่มีโฟกัสสั้น ทำให้ได้ภาพถ่ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แม้ว่าวัตถุจะอยู่ห่างไกลมากก็ตาม เหมาะสำหรับผู้ถ่ายภาพที่ต้องการถ่ายวัตถุที่ไม่สามารถเข้าไปใกล้ ๆ ได้ เช่น การถ่ายภาพสัตว์ในป่า ภาพกีฬาบางประเภท ภาพทิวทัศน์ไกล เป็นต้น เลนส์ ถ่ายไกลที่มีความยาวโฟกัส ยาวมากจะมีมุมในการรับภาพแคบลง เช่น เลนส์ถ่ายไกล 500 มม. มีมุมในการรับภาพ 5 องศา และเลนส์ถ่ายไกล 1000 มม. มีมุมในการรับภาพเพียง 2.5 องศา เป็นต้น นอกจากจะมีมุมในการรับภาพแคบแล้ว เลนส์ถ่ายไกลยังมีระยะช่วงความชัดน้อยมาก ภาพจะดูตื้นแบน มีระยะหลังของภาพพร่ามัว

เลนส์ถ่ายไกลสามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อย ๆ ได้อีก คือ

1.1 เลนส์ถ่ายไกลระยะสั้น (Short telephoto) เป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสระหว่าง 80 – 135 มม.

1.2 เลนส์ถ่ายไกลระยะปานกลาง (Medium telephoto) เป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสระหว่าง 150 – 250 มม.

1.3 เลนส์ถ่ายไกลระยะไกล (Long telephoto) มีความยาวโฟกัสระหว่าง 800 – 2000 มม.

นอกจากเลนส์ถ่ายภาพไกลโดยทั่วไปแล้ว ยังมีเลนส์อีกชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่สำหรับถ่ายไกลเช่นเดียวกัน คือ เลนส์กระจก (Mirror lens) มีความยาวโฟกัส 500 มม. หรืออาจสูงถึง 2,000 มม. กระบอกเลนส์มีลักษณะสั้น และกว้างประกอบด้วยกระจกโค้ง 2 บาน สะท้อนแสงและขยายภาพผ่านแก้วเลนส์หลายชิ้น เลนส์ชนิดนี้มีเลขเอฟ (f/number) ตายตัวเพียง 1 เลขเอฟ จึงมีข้อจำกัดในการเลือกใช้ฟิล์ม และการตั้งความเร็วชัตเตอร์ ราคาก็ค่อนข้างแพง แต่ก็มีข้อดีในเรื่องรูปร่างกะทัดรัด มีความยาวโฟกัสยาวมาก และให้ภาพที่มีความคมชัด

การถ่ายภาพไกลนอกจากใช้เลนส์ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวมาแล้ว ใช้ เทเลพลัส (Teleplus) หรือเลนส์คอนเวอเตอร์ (Teleconverter) สวมต่อระหว่างเลนส์มาตรฐานกับกล้องถ่ายภาพจะสามารถเพิ่มความยาวโฟกัสของเลนส์เป็น 1.4 เท่า หรือมากกว่า ซึ่งเทเลคอนเวอเตอร์ดังกล่าวจะมีขนาด 1.4X 2X 3X หรือ 4X เป็นอุปกรณ์ประกอบชนิดหนึ่งที่มีราคาค่อนข้างถูก กะทัดรัด แต่ข้อเสียคือ จะตัดทอนแสง ลดความชัดลงไปบ้าง


1. เลนส์ซูม (Zoom lens)

เลนส์ซูม (Zoom lens) หมายถึง เลนส์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงค่าความยาวโฟกัสได้ (Vari focal lens) ภาพที่เกิดขึ้นจะมีขนาดเปลี่ยนแปลง เมื่อเปลี่ยนทางยาวโฟกัส กล่าวคือ ภาพจะใหญ่ที่สุด เมื่อทางยาวโฟกัสยาวที่สุด และภาพจะมีขนาดเล็กที่สุด เมื่อทางยาวโฟกัสสั้นที่สุด เหมาะสำหรับใช้ถ่ายภาพที่ต้องการให้เห็นภาพกว้าง ๆ และในบางครั้งต้องการเน้นให้เห็นภาพเฉพาะ ความคมชัดของภาพถ่ายจากเลนส์ซูมอาจเสียไปบ้าง โดยเฉพาะการถ่ายภาพที่ใช้ความยาวโฟกัสยาว ปัจจุบันเลนส์ซูมแต่ละตัวจะมีความยาวโฟกัสต่างระยะกันประมาณ 2 – 6 เท่า เช่น เลนส์ซูมขนาด 43 – 86 มม., 70 - 250 มม., 85 – 300 มม., 800 – 1200 มม. เป็นต้น

1. เลนส์ถ่ายใกล้หรือเลนส์มาโคร (Macro lens)

คำว่า “Macro” เป็นคำที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ใกล้เลนส์มาก ๆ (Close – up photography) เป็นเลนส์ที่สามารถถ่ายภาพโดยให้กล้องเข้าใกล้วัตถุที่ต้องการถ่ายได้เกิน 1 – 1 ½ ฟุต สามารถปรับระยะชัดได้ ช่วยขยายวัตถุที่เล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เลนส์ชนิดนี้บางทีก็เรียกชื่อว่า เลนส์ไมโคร (Micro lens) เลนส์มาโครความยาวโฟกัส 55 มม. ขยายภาพได้ 1:2 ส่วนเลนส์แมโคร 60 มม. ขยายภาพได้ 1:1 แต่ถ้าต้องการถ่ายภาพขยายให้มีขนาดใหญ่กว่านี้ ก็อาจใช้ร่วมกับท่อต่อ (Extension tube) หรือส่วนพับยืด (Bellows) ภาพถ่ายก็จะมีกำลังขยายมากขึ้น


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น