วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติการถ่ายภาพ/1

วิชาการถ่ายภาพนั้น ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องกันมากว่าหนึ่งร้อยเจ็ดสิบปีตามลำดับ ก่อนที่จะมีกล้องถ่ายภาพเพื่อบันทึกภาพให้เหมือนจริงนั้น มนุษย์ในสมัยโบราณได้ใช้วิธีการวาดภาพเพื่อบันทึกความทรงจำและใช้ในการสื่อความหมาย ซึ่งการวาดภาพดังกล่าวต้องใช้เวลานาน และได้ภาพที่ไม่เหมือนจริงตามธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาอื่น ๆ ทำให้มนุษย์พยายามคิดค้นวิธีการสร้างภาพโดยใช้เวลาน้อยลง และให้ได้ภาพที่สมบูรณ์เหมือนธรรมชาติมากยิ่งขึ้น หลังจากที่มนุษย์ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดในศตวรรษที่ 19 มนุษย์ก็ประสบผลสำเร็จในการคิดค้นกระบวนการสร้างภาพ จากผลของการทดลอง ของนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาความรู้จากศาสตร์ 2 สาขา คือ สาขาฟิสิกส์ ได้แก่ เรื่องของแสงและกล้องถ่ายภาพ และสาขาเคมีในส่วนที่เกี่ยวกับฟิล์ม สารไวแสง และน้ำยาสร้างภาพ

การถ่ายภาพเป็นการรวมหลักการที่สำคัญ 2 ประการเข้าด้วยกัน คือ การทำให้เกิดภาพจำลองของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ปรากฏบนฉากรองรับได้ และการใช้สื่อกลางในการบันทึกภาพจำลองของวัตถุนั้นให้ปรากฏอยู่ได้อย่งคงทนถาวร

ในหลักการข้อแรก คือ การทำให้เกิดภาพจำลองของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ปรากฏบนฉากรองรับได้นั้น อริสโตเติ้ล (Aristotle) นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีก ได้บันทึกไว้เป็นครั้งแรก เมื่อ 400 ปีก่อนคริสต์ศักราชว่า ถ้าเราปล่อยให้ลำแสงผ่านเข้าไปทางช่องเล็ก ๆ ในห้องมืด แล้วถือกระดาษขาวให้ห่างจากช่องรับแสง ประมาณ 15 ซม. จะปรากฏภาพบนกระดาษ มีลักษณะเป็นภาพจริงหัวกลับ แต่เป็นภาพที่ไม่ชัดเจนนัก

จากหลักการนี้ ต่อมาได้มีการประดิษฐ์ เป็นกล้องรูเข็ม และวิวัฒนาการมาเป็นกล้องออบสคิวรา (Camera Obscura) ซึ่งเป็นภาษาลาติน แปลว่าห้องมืด นักปราชญ์ชาวอาหรับชื่อ อัลฮาเซน (Alhazen) ได้บรรยายรูปร่างลักษณะของกล้องออบสคิวราไว้ก่อนปี ค.ศ.1039 ว่า มีลักษณะเป็นห้องมืดที่มีรูเล็ก ๆ ที่ฝาข้างหนึ่ง เมื่อแสงเดินทางผ่านรูเล็ก ๆ นี้แล้ว สามารถทำให้เกิดภาพจริงหัวกลับบนฝาผนังด้านตรงข้ามได้

ค.ศ.1490 ลิโอนาโด ดา วินซี (Leonardo Da Vinci) นักวิทยาศาสตร์และศิลปะชาวอิตาเลียน ได้บันทึกคำอธิบายเกี่ยวกับหลักการทำงานของกล้องออบสคิวราไว้อย่างสมบูรณ์ ทำให้คนเริ่มเข้าใจเรื่องของกล้องมากขึ้น โดยเฉพาะจิตรกรสนใจนำกล้องออบสคิวราไปช่วยในการวาดภาพลอกแบบ เพื่อให้ได้ภาพในเวลาที่รวดเร็วขึ้น และมีสัดส่วนเหมือนจริงได้แสงเงาที่ถูกต้อง

รูปแบบของกล้องออบสคิวรา ได้พัฒนาคุณภาพให้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้นตามลำดับ เช่น มีการนำเลนส์มาเพิ่มในตัวกล้องทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน กล้องมีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก

ค.ศ. 1550 กิโรลาโม การ์แดโน (Girolamo Gardano) ชาวอิตาเลียน ได้สร้างเลนส์นูน และนำไปใส่ไว้ในช่องรับแสง ของกล้อง ปรากฏว่าได้ภาพที่สว่างขึ้นแต่ภาพยังไม่คมชัด

ค.ศ.1568 แดนีล บาร์ บาโร (Daniel Barbaro) ประดิษฐ์ม่านบังคับช่องรับแสง (Diaphragm) เพิ่มเติมในกล้องถ่ายภาพ ปรากฏว่าได้ภาพที่ชัดขึ้นกว่าเดิม

กล่องนอกเลื่อนเข้าออกได้เพื่อปรับระยะชัด ต่อมาปี ค.ศ.1851 ได้พัฒนาเป็นกล่องเดียวและมีเบลโล่ (Bellow) แทน

ค.ศ.1573 (Danti) ได้แนะนำให้ใช้กระจกเว้าเพื่อช่วยให้การมองภาพให้เห็นเป็นภาพหัวตั้ง

ค.ศ.1676 โยฮานน์ สเตอร์ม (Johamm Sturm) ประดิษฐ์กล้องรีเฟลกซ์ (Reflex Camera) เป็นกล้องแรกของโลก โดยใช้กระจกเงาวางตั้งให้ได้มุม 45 องศา เพื่อรับแสงแล้วสะท้อนเข้าฉากรับภาพ ซึ่งจะได้ภาพหัวตั้งสะดวกต่อการมองภาพของผู้ถ่ายภาพ

ค.ศ. 1839 ดาแกร์ (Daguerre) ประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพเรียกว่า กล้องดาร์แกร์โอไทพ์ (Daguerrotype Camera) มีลักษณะเป็นกล่อง 2 ใบซ้อน

ค.ศ. 1840 ฟอกซ์ ทัลบอท (Fox Tallbot) ผลิตกล้องคาโลไทป์ (Colotpye Camera) และกล้องฟอกซ์ ทัลบอท ออบสคิวรา (Fox Tallobot’ Box Camera Obscura)

หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ ได้พัฒนากล้องออบสคิวราจนสมบูรณ์แบบในต้นศตวรรษที่ 17 แล้ว นักวิทยาศาสตร์สาขาเคมี ก็ได้คิดค้นสื่อกลางในการบันทึกภาพจำลองของวัตถุต่าง ๆ ให้ปรากฏอยู่ได้อย่างคงทนถาวรตามลำดับดังนี้

ค.ศ.1727 โยฮัน เฮินริช ชิลตซ์ (Johann Heinrich Schulze) ศาสตราจารย์ชาวเยอรมันพบว่า สารผสมของชอล์กกับเกลือเงินไนเตรท เมื่อถูกแสงแล้วจะทำให้เกิดภาพสีดำ

ค.ศ.1777 คาร์ล วิลเลี่ยม ชีล (Carl William Scheele) นักเคมีชาวสวีเดน พบว่าแสงสีน้ำเงินและสีม่วงของ Positive มีผลทำให้เกลือเงินไนเตรท และเกลือเงินคลอไรด์ เปลี่ยนเป็นสีดำได้มากกว่าแสงสีแดง

ค.ศ.1826 โจเซฟ เนียพฟอร์ เนียพซ์ (Joseph Nicephore Niepce) ชาวฝรั่งเศส ได้ใช้แผ่นดีบุกผสมตะกั่วฉาบด้วยสารไวแสงบีทูเมนซึ่งมีสีขาว (White Bitumen) ใส่เข้าในกล้องออบสคิวรา ถ่ายภาพทิวทัศน์จากหน้าต่างบ้านของเขาที่เมืองแกรส (Grass) โดยใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมง เมื่อนำแผ่นดีบุกผสมตะกั่วฉาบสารบีทูเมน ล้างด้วยส่วนผสมของน้ำมันจากต้นลาเวนเดอร์ (Lavender) กับ White Petroleum แล้วทำให้ส่วนที่ถูกแสงที่เป็นส่วนของ Positive แข็งตัว ส่วนสารบีทูเมนที่ไม่ถูกแสงจะถูกชะล้างละลายออกไปหมดเหลือแต่ส่วนผิวของแผ่นดีบุกผสมตะกั่ว ซึ่งจะมีดำ เนียพซ์ตั้งชื่อกระบวนการถ่ายภาพนี้ว่า เฮลิโอกราฟ (Heliograph) มีความหมายว่า ภาพที่วาดโดยดวงอาทิตย์ ถือได้ว่า ภาพถ่ายของเขาเป็นภาพถ่าย Positive ที่ถาวรภาพแรกของโลก แต่กระบวนการถ่ายภาพโดยใช้สารบีทูเมนนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากสารบีทูเมนมีความไวแสงต่ำ ภาพที่ได้มีคุณภาพยังไม่ดีพอ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้นับได้ว่าเป็นผลงานต้นแบบที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง ๆ ได้นำแนวคิดมาพัฒนาต่อไป

ค.ศ.1837 หลุยส์ จาคเคอร์ แมนเดดาแกร์ (Louis Jacque Mande Daguerre) จิตรกรชาวฝรั่งเศสซึ่งเคยเข้าร่วมสัญญาดำเนินกิจการกับเนียพซ์ และหลังจากเนียพซ์ถึงแก่กรรม เขาประสบความสำเร็จในการคิดกระบวนการสร้างภาพที่เรียกว่า ดาแกร์โอไทป์ (Daguerreotype) เป็นการทำให้เกิดภาพในกล้องด้วยปฏิกิริยาของแสง โดยใช้สารที่มีความไวแสงในการบันทึกภาพ และเขาได้จดสิทธิบัตรไว้ที่ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ.1839 กระบวนการสร้างภาพระบบดาแกร์โอไทป์ ได้รับชื่อเสียง เป็นที่นิยม ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก

กระบวนการสร้างภาพระบบดาแกร์โอไทป์ จะใช้แผ่นทองฉาบผิวหน้าด้วยเงิน (Silver) แล้วนำไปอังไอของไอโอดีน (Iodine) ซึ่งจะทำให้เกิดเกลือเงินไอโอไดด์ (Silver Iodide) ที่มีคุณสมบัติไวแสง เมื่อนำแผ่นทองแดงที่ไวแสงเข้ากล้องออบสคิวราถ่ายภาพ โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที นำแผ่นทองแดงไวแสงที่ถูกแสงแล้วไปอังไอปรอท (Mercury Vapour) ซึ่งเผาที่อุณหภูมิ 150 องศา จนกระทั่งเกิดอนุภาคปรอทเล็ก ๆ ไปเกาะติดที่เงินในส่วนที่ถูกแสง ทำให้เกิดภาพทีละน้อยจนเต็มที่ จากนั้นนำไปแช่ในน้ำเย็น เพื่อทำให้ผิวหน้าของภาพแข็งตัว และทำให้ภาพคงสภาพโดยนำไปแช่ในส่วนประกอบของเกลือแกงและไฮโป จนเกิดเป็นภาพถ่ายที่สมบูรณ์

ดาแกร์ ได้แสดงกระบวนการสร้างภาพดังกล่าวให้ประชาชนชม เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1839 ที่แกรนด์โอเต็ล ปารีส หนังสือพิมพ์นิวยอร์คสตาร์ได้ส่งผู้สื่อข่าวไปสังเกตการณ์ และนำเรื่องราวไปเชียนพิมพ์เผยแพร่ที่นิวยอร์ค ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า ในชีวิตการเป็นผู้สื่อข่าวของเขายังไม่เคยเห็นสิ่งที่วิเศษสมบูรณ์เช่นนี้มาก่อน เขาได้มีโอกาสเห็นสิ่งมหัศจรรย์ด้วยตาตนเองเป็นครั้งแรก

กระบวนการสร้างภาพระบบดาแกร์โอไทป์มีจุดเด่น คือ ระบบการถ่ายภาพจะใช้แผ่นโลหะ เช่น แผ่นทองแดงหรือแผ่นเงินฉาบน้ำยาไวแสง เมื่อนำไปถ่ายภาพโดยทำปฏิกิริยากับแสงที่พอเหมาะแล้ว ผ่านกระบวนการสร้างภาพและคงภาพตามลำดับ จะได้ภาพที่ละเอียด คมชัด ลักษณะของภาพจะกลับซ้ายเป็นขวาเหมือนภาพที่มองผ่านกระจกเงา ถ่ายภาพครั้งแรกได้เพียงหนึ่งภาพ นำไปอัดขยายซ้ำหลาย ๆ ภาพไม่ได้ ในระยะแรก ๆ ผู้เป็นแบบถ่ายต้องนั่งนิ่ง ๆ นานถึงครึ่งชั่วโมง เพราะความไวของแสงของน้ำยายังต่ำมาก ในระยะหลัง ๆ ได้พัฒนาให้มีความไวแสงสูงขึ้นตามลำดับ การสร้างภาพระบบดาแกร์โอไทป์ ถือได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างภาพสมัยใหม่ที่ย่างเข้าสู่การถ่ายภาพยุคปัจจุบัน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น