วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติการถ่ายภาพ/2

ค.ศ. 1840 วิลเลี่ยม เฮนรี่ ฟอกซ์ ทัลบอท (William Henry Fox Talbot) นักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้วิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการถ่ายภาพมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1833 โดยใช้แผ่นกระดาษ ฉาบน้ำยาไวแสงในการถ่ายภาพ ผ่านกระบวนการสร้างภาพและคงภาพตามลำดับ จะได้ภาพเนกาทิฟต้องนำไปอัดลงในกระดาษผ่านน้ำยาสร้างภาพ และคงภาพจึงจะได้ภาพพอซิทิฟ ในปี ค.ศ.1840 ทัลบอทได้พัฒนากระบวนการถ่ายภาพ โดยการถ่ายภาพเนกาทิฟลงบนกระดาษที่ฉาบผิวหน้าด้วยซิลเวอร์ไอโอไดด์ หลังจากนำไปเข้ากล้องถ่ายภาพและถ่ายภาพแล้ว นำกระดาษมาล้างในน้ำยาสร้างภาพ ซึ่งใช้ส่วนผสมของเงินไนเตรทกับกรดแกลลิก เขาเรียกน้ำยานี้ว่า แกลโลไนเตรทออฟซิลเวอร์ (Gallonitrate of Silver) เมื่อนำไปผ่านกระบวนการสร้างภาพและคงภาพแล้วจะได้ภาพพอซิทิฟที่สมบูรณ์

กระบวนการถ่ายภาพเนกาทิฟ – พอซิทิฟ ของทัลบอทนี้ เรียกชื่อว่า แคโลไทป์ (Calotype) ซึ่งความหมายว่า ความประทับใจในภาพที่สวยงาม ต่อมาภายหลังเรียกชื่อใหม่ว่า ทัลโบไทป์ (Tallbotupe)

ทัลบอท ได้นำใบไม้ ขนนก สายสร้อย และลายลูกไม้ มาวางทับแผ่นกระดาษไวแสง เมื่อนำไปทำปฏิกิริยากับแสง ล้างในน้ำยาสร้างภาพน้ำยาคงภาพตามลำดับแล้ว จะได้ภาพขาว - ดำของวัตถุต่าง ๆ เขาเรียกวิธีการนี้ว่า โฟโต้เจนิคดรออิ้ง (Photogenic Drawing) ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า โฟโต้แกรม (Photogram)

ค.ศ.1839 เซอร์ จอห์น เฮอร์เชล (Sir John Herschel) นักวทิยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้ให้คำแนะนำแก่ทัลบอทเกี่ยวกับการใช้คำที่ใช้ในวิชาการถ่ายภาพคือ

คำว่า “Photogenic” ควรใช้คำ “Photogramphed” แปลว่า ซึ่งเกี่ยวกับการถ่ายภาพ หรือซึ่งได้จากการถ่ายภาพ และได้สร้างคำ “Photography” ซึ่งใช้ในวงการถ่ายภาพเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

คำ “Reversed image” ควรใช้คำ “Negative”

คำ “Re-reversed image” ควรใช้คำ “Positive”

นอกจากนั้น เฮอร์เชล ยังค้นพบว่า สารเคมีโซเดียมไธโอซัลเฟต (Sodium Thiosulphate) หรือชื่อทางการค้าว่า ไฮโป (Hypo) สามารถล้างละลายเกลือเงินเฮไลด์ได้

ค.ศ.1851 เฟรดเดริค สก๊อต อาร์เชอร์ (Frederick Scott Archer) ช่างแกะสลักชาวอังกฤษได้ทดลองใช้สารละลายโคโลเดียน (Collodion) ที่มีชื่อทางเคมีว่า เซลลูโลสไนเตรต (Cellulose Nitrate) มีลักษณะเป็นของเหลวข้น ฉาบบนแผ่นกระจกซึ่งใช้เป็นฐานรองรับ ซึ่งเรียกว่า เพลท (Plate) แล้วนำไปแช่น้ำยาไนเตรต (Silver Nitrate) ในห้องมืดโดยใช้เป็นวัสดุไวแสง ขณะที่แผ่นกระจกไวแสงยังเปียกอยู่ ให้นำเข้ากล้องถ่ายภาพทำปฏิกิริยากับแสง จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการสร้างภาพ ด้วยน้ำยาไพโรแกลลิกแอซิด (Pyrogallic Acid) หรือเฟอรัสซัลเฟต (Ferrous Sulphate) เมื่อปรากฏภาพโดยสมบูรณ์แล้ว นำไปคงภาพด้วยน้ำยาไฮโป เนื่องจากกระบวนการนี้ต้องถ่ายภาพขณะที่เพลทไวแสงยังเปียกอยู่ จึงเรียกว่า กระบวนการเพลทเปียก (Wet Plate Process) หรือกระบวนการโคโลเดียนบนแผ่นแก้ว (Wet Collodion Process on Grass) ซึ่งได้รับความนิยมนานถึง 30 ปี ในการถ่ายภาพนอกสถานที่ ผู้ถ่ายภาพต้องนำกระโจมห้องมืด ขวดน้ำยา และอุปกรณ์จำเป็นอื่น ๆ ไปด้วย

ค.ศ. 1871 ดร. ริชาร์ด ลีช แมดดอกซ์ (Dr. Richard Leach Maddox) นายแพทย์ชาวอังกฤษ ได้ทำเพลทไวแสงโยใช้สารเจลาติน (Gelatin) แทนโคโลเดียน ซึ่งมีกลิ่นเหม็นผสมกับเงินไนเตรต (Silver Nitrate) ฉาบบนแผ่นกระจก ผึ่งให้แห้งในห้องมืด จากนั้นนำเข้ากล้องถ่ายภาพ ทำปฏิกิริยากับแสงและผ่านกระบวนการสร้างภาพตามลำดับ แมดดอกซ์เรียก ชื่อกระบวนการนี้ว่า เพลทแห้ง (Dry Plate)

ค.ศ. 1978 ชาร์ล เบนเนท (Charles Bennet) ได้ปรับปรุงเพลทแห้งให้มีความไวแสงสูงขึ้น สามารถถ่ายภาพโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/25 วินาทีได้ โดยใช้เวลาในการเปิดรับแสงน้อยกว่าเดิมถึง 50 – 60 เท่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพที่ทันสมัยที่สุด เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การผลิตกล้องถ่ายภาพและเพลทแบบเจลาตินออกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย

ค.ศ. 1873 เฮอร์แมน วิลฮิม โวเกล (Herman Wihelm Vogel) พบว่าสีย้อมทางเคมี (Dyes) บางอย่างเมื่อเติมลงไปในน้ำยาไวแสงที่ฉาบเพลท จะช่วยให้เพลทมีความไวในการรับแสงสีต่าง ๆ เพิ่มขึ้น การสร้างเพลทไวแสงในระยะแรก ๆ จะมีความไวในการรับแสงสีน้ำเงินเพียงสีเดียวเมื่อโวเกล ทดลองเติมสารซึ่งเป็นพวกสีอินทรีย์ลงไป เพื่อเพิ่มความไวแสงจะทำให้เพลทสามารถไวต่อการรับแสงสีทุกสีในสเปกตรัม เพลทนี้เรียกว่า แพนโครแมติค เพลท (Panchromatic Plate) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นคิดกระบวนการผลิตภาพสีในเวลาต่อมา

ค.ศ. 1888 ยอร์จ อิสต์แมน (George Eastman) ชาวอเมริกันผู้สนใจการถ่ายภาพและเป็นช่างภาพสมัครรับจ้างถ่ายภาพในงานทั่วไป ได้ผลิตเพลงแห้งและกล้องถ่ายภาพออกจำหน่าย กล้องแบบมือถือรุ่นแรก ผลิตเมื่อ ค.ศ.1888 มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่า กล้องบ๊อกซ์ โกดก (Kodak Box Camera) ใช้ฟิล์มที่เป็นกระดาษฉาบน้ำยาเจลาตินโบรไมด์ มีลักษณะเป็นม้วนยาวบรรจุอยู่ในกล้องถ่ายภาพ ถ่ายภาพได้ 100 ภาพติดต่อกัน เมื่อถ่ายภาพเสร็จต้องส่งกล้องพร้อมฟิล์มไปที่บริษัท เพื่อล้างฟิล์มและอัดภาพกล้องแบบนี้ ถ่ายภาพง่ายและสะดวก มีผู้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย จนในปี ค.ศ.1889 ได้พัฒนาฟิล์มเป็นวัตถุโปร่งแสงคือเซลลูลอยด์ (Celluloid) แทนกระดาษ นับเป็นก้าวสำคัญในการผลิตฟิล์มในสมัยต่อมา และกล้องถ่ายภาพก็ได้พัฒนารูปแบบและการใช้งานให้สะดวกขึ้นในปี ค.ศ.1990 อีสต์แมน ได้แนะนำกล้อง Box Brownie นำออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในราคากล้องละ 1 ดอลล่าร์ ส่วนในอังกฤษกล้องละ 5 ชิลลิ่งจำหน่ายได้กว่าหนึ่งแสนกล้องในปีแรกที่ผลิต

วิวัฒนาการของวัสดุไวแสงควบคู่มากับกล้องถ่ายภาพ แม้ว่าในยุคแรก ๆ กล้องถ่ายภาพจะมีลักษณะเป็นกล่องไม้สี่เหลี่ยมไม่ประณีตนัก ต่อมาก็ได้พัฒนามาเป็นไม้สักและไม้มะฮ๊อกกานี อุปกรณ์ กลไกประกอบอื่น ๆ ก็ทำด้วยทองเหลืองดูสวยงามขึ้น ในการใช้งานเช่นการมองภาพและการปรับความคมชัดก็ใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ระบบชัตเตอร์ควบคุมปริมาณแสง สามารถทำงานได้ถูกต้องแม่นยำ มีการปรับปรุงให้ฟิล์มมีความไวแสงสูงขึ้น และมีขนาดเล็กลง ในปี ค.ศ.1925 บริษัท อี.ไลซ์ (E. Leiz) แห่งประเทศเยอรมันได้ผลิตกล้องไลก้า 1 (Leica 1) ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้กับฟิล์ม ขนาด 35 มม. ที่สมบูรณ์เป็นตัวแรก

ขณะเดียวกันกับที่มีการผลิตกล้องออกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เลนส์ที่นำมาใช้กับกล้องก็มีการพัฒนาควบคู่มาโดยลำดับ เริ่มจากยุคแรก ๆ ที่กล้องใช้เพลทเคลือบสารไวแสง จะใช้เลนส์แบบง่าย ๆ มีช่องรับแสงกว้างสุดเพียง f/16 จนในปี ค.ศ.1940 การผลิตเลนส์ก็มีการพัฒนาขึ้น เลนส์หนึ่งตัวอาจมีแก้วเลนส์หลายชั้นทำหน้าที่ได้มากขึ้น มีการเคลือบน้ำยาบนผิวหน้าของแก้วเลนส์ ทำให้เลนส์มีคุณภาพในการรับแสงมากขึ้นและยังช่วยลดแสงสะท้อนให้น้อยลง

การมองภาพและการปรับความคมชัดของกล้องถ่ายภาพโดยใช้ระบบสะท้อนภาพ นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเป็นต้นแบบในการผลิตกล้องในปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ.1860 โธมาส ซัทตัน (Thomas Sutton) ช่างภาพชาวอังกฤษ ใช้กระจกเงาช่วยในการสะท้องภาพให้เห็นตามความเป็นจริงได้ในระดับสายตา กล้องแบบสะท้อนเลนส์เดี่ยวขนาด 35 มม. กล้องแรกแนะนำในปี ค.ศ.1937 คือกล้องคิเน่ เอ็ก แซกต้า (Kine Exacta) และกล้องที่ใช้กับฟิล์มขนาด 2 นิ้ว แนะนำครั้งแรกในปี ค.ศ. 1950 คือ กล้อง ฮาสเซล แบลด (Hasselblad) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตกล้อง และสะท้อนเลนส์เดี่ยว (Single Lens Relfex – SLR) จนเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบัน

ผลจากการคิดค้นของนักวิทยาศาสตร์ในอดีตมากมาย หลายท่านสืบต่อกันมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เวลานานนับศตวรรษ ทำให้เทคโนโลยีการถ่ายภาพเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผลิตภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับวงการถ่ายภาพมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลทันสมัยมากมาย กล้องถ่ายภาพมีระบบการทำงานก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ควบคุมการทำงานโดยอัตโนมัติสารพัดอย่าง มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอล (Digital Camera) โดยใช้ CCD ในการรับภาพ แปลงสัญญาณเป็นดิจิตอลบันทึกไว้ในการ์ดหน่วยความจำแบบต่าง ๆ แทนการใช้ฟิล์ม การใช้งานจะต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ไขตกแต่งภาพเพิ่มเติมก่อนการพิมพ์ภาพจากเครื่อง Printer สามารถผลิตภาพขาว – ดำ ภาพสี รวมทั้งการแยกฟิล์มสี่สีเพื่อผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ต่อไป ผู้สนใจการถ่ายภาพควรต้องแสงหา ติดตามข่าวสารความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเพื่อให้การเลือกการใช้กล้องถ่ายภาพ และอุปกรณ์ประกอบอื่นให้เหมาะกับงาน สามารถนำมาช่วยสร้างสรรค์การถ่ายภาพให้มีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานในแขนงวิชาการต่าง ๆ ต่อไป


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น