วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคบางประการในการใช้แฟลชถ่ายภาพ

1. ใช้แฟลชสำหรับลบเงา การถ่ายภาพบุคคลกลางแจ้งใต้แสงแดดนั้น ถ้าเป็นเวลาใกล้เที่ยงหรือถ่ายภาพย้อนแสง มักจะทำให้เกิดเงาดำบนใบหน้า การใช้แฟลชเข้าช่วยเพื่อการเปิดเงาหรือลบเงาเป็นการเพิ่มแสง (Fill – in light) ทำให้ใบหน้าดูสว่างขึ้น การใช้แฟลชเพื่อการลบเงานั้น ให้หาระยะห่างจากแฟลชถึงวัตถุที่ถ่ายด้วยการคำนวณจากตัวเลขนำของแฟลชให้เหมาะกับความไวแสงฟิล์มที่ใช้ตัวอย่าง เช่น ฟิล์มแสง 100 ISO ถ่ายด้วยแสงแดด ปกติต้องเปิดช่องรับแสงที่ f16 ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาที เมื่อใช้แฟลชที่มีตัวเลขนำ 110 ช่วยลบเงา จะต้องให้แฟลชอยู่ห่างจากวัตถุ = 110 / 16 = 6.87 ฟุต จึงจะเพิ่มแสงให้วัตถุพอดี

2. ใช้แฟลชสะท้อนแสง การถ่ายภาพโดยใช้แฟลชโดยตรงจะให้แสงแรงจัด ทำให้ภาพมีเงาสีดำเข้ม มักจะแก้ไขโดยวิธีหันแฟลชส่องไปยังผนังหรือเพดานที่มีสีขาว แสงจะสะท้อนส่องไปยังวัตถุ (Bounce flash) แสงเช่นนี้จะกระจายไปทั่วและนุ่มนวลขจัดเงาดำ มิให้เกิดขึ้น ทำให้ภาพสวยขึ้น การปรับขนาดของช่องรับแสง ก็คำนวณจากตัวเลขนำของแฟลช แต่การคิดระยะจากแฟลชถึงวัตถุให้คิดรวมจากแฟลชถึงเพดาน และจากเพดานลงมาถึงวัตถุที่จะถ่าย เมื่อได้ขนาดช่องรับแสงจากการคำนวณแล้วให้เพิ่มขนาดช่องรับแสงให้กว้างขึ้นอีกประมาณ 2 สตอป ตัวอย่างเช่น การถ่ายภาพบุคคล โดยใช้แฟลชสะท้อนแสง ระยะทางจากแฟลชถึงเพดาน 2 เมตร และจากเพดานถึงบุคคลที่จะถ่าย 2 เมตร รวมระยะแล้วได้เท่ากับ 4 เมตร แฟลชมีตัวเลขนำ 33

จากสูตรช่องรับแสง = 33 / 4 = 8.2

เมื่อเวลาถ่ายภาพต้องเปิดช่องรับแสงให้กว้างขึ้นอีกประมาณ 2 สตอป นั่นคือ ต้องเปิดช่องรับแสงที่ f4 เป็นต้น

3. การใช้แฟลชมากกว่า 1 ชุด ในบางครั้ง การถ่ายภาพบุคคลในระยะใกล้ โดยใช้แฟลช อาจใช้แฟลชมากกว่า 1 ชุด ซึ่งการจัดวางแฟลช ควรมีการจัดวางแฟลช ให้เหมือนกับการจัดไฟถ่ายภาพในสตูดิโอ โดยให้แฟลชชุดที่หนึ่งเป็นไฟหลัก ส่องทางด้านหน้าของตัวแบบ สำหรับไฟแฟลชชุดที่ 2 เป็นไฟเพิ่ม ให้มีกำลังไฟน้อยกว่าไฟหลัก โดยการบังแสง หรือลดไฟถ่ายภาพที่ได้จะมีแสงที่งดงามกว่าการใช้แฟลชเพียงชุดเดียว สำหรับการปรับช่องรับแสง ให้ใช้ตัวเลขนำของแฟลชหารด้วยระยะทางจากแฟลชที่เป็นไฟหลักถึงตัวแบบ

ข้อแนะนำในการถ่ายภาพด้วยแฟลช

1. ตรวจดูแบตเตอรี่ของแฟลชว่ามีไฟพร้อม

2. ติดตั้งแฟลชยึดติดกับฐานสวมไร้สายของกล้อง และถ้าเป็นชนิดที่ต้องใช้สายเชื่อมโยงให้เสียบเข้ากับช่องสัมผัสให้ตรงกับชนิดของแฟลช

3. ตั้งความเร็วชัตเตอร์ตามที่กล้องนั้นกำหนด เช่น 1/60 วินาที, 1/125 วินาที, 1/250 วินาที หรือต่ำกว่า

4. ปรับช่องรับแสง ให้เหมาะกับระยะของวัตถุที่จะถ่าย ดูได้จากตารางบนแฟลช ตั้งตัวเลขตามความไวแสงฟิล์มที่ใช้ ปรับระยะการถ่ายภาพ ดูตัวเลขการเปิดช่องรับแสง

5. ปรับระยะชัด

6. เปิดสวิตซ์แฟลช รอจนกว่า Pilot lamp ของแฟลชจุดสว่าง

7. กดไกชัตเตอร์ถ่ายภาพ

8. เมื่อเลิกถ่ายภาพให้ปิดสวิตซ์แฟลชทันที


ข้อควรระวังในการถ่ายภาพด้วยแฟลช

1. อย่าตั้งความเร็วชัตเตอร์เร็วกว่าที่ X-Synchronization ของกล้องกำหนดไว้ เช่น ถ้ากล้องกำหนดความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/125 วินาที หากตั้งความเร็วไปที่ ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/250 วินาที ภาพที่ได้จะสว่างเพียงครึ่งเดียวอีกครั้งหนึ่งจะมืด

2. ระวังแสงสะท้อนจากแฟลชเข้ากล้อง เมื่อถ่ายภาพผ่านกระจก หรือฉากหลังกระจกหรือผิวพื้นขัดมัน จะได้ภาพถ่ายที่มีจุดสว่างไม่น่าดู แก้ไขโดยการปรับมุมของแฟลช อาจแยกแฟลชให้ห่างจากตัวกล้องหรือเปลี่ยนมุมในการถ่ายภาพใหม่

3. การถ่ายภาพสีโดยใช้แฟลช โดยเฉพาะการถ่ายภาพบุคคล ในบางครั้งจะปรากฏว่าเกิดจุดสีแดงในดวงตาดำ ทั้งนี้เป็นเพราะเกิดการสะท้อนของเยื่อสีแดงกับเรตินาในดวงตา สาเหตุเกิดจากการติดตั้งแฟลชอยู่ชิดกับกล้องถ่ายภาพมากเกินไป ฉะนั้นควรแยกแฟลชให้ห่างจากตัวกล้อง หรืออาจเปิดไฟในห้องให้สว่างขึ้นม่านตาจะเปิดกว้าง ช่วยลดการสะท้อนแสงของเยื่อสีแดงในดวงตาได้ แต่ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพรุ่นใหม่ ๆ จะมีโหมดสำหรับแก้การเกิดจุดสีแดงในดวงตาโดยอัตโนมัติ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น