วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กล้อง APS (Advanced Photo System)

เป็นระบบการบันทึกภาพที่พัฒนาใหม่ โดยความร่วมมือของ 7 บริษัท ได้แก่ โกดัค นิคอน ฟุจิ แคนอน โคนิกา มินอลต้า และ ยาชิกา หรือ เคียวซีร่า เปิดตัวเมื่อกลางปี พ.ศ.2539 มีการเปลี่นแปลงทั้งเรื่องของฟิล์ม กล้องและกระบวนการล้าง อัดขยายภาพ มีสัญลักษณ์คือ

ในช่วงแรกโกดัคได้ผลิตฟิล์ม APS คือ KODAK ADVANTIX ISO 100 200 และ 400 ฟูจิผลิต FUJICOLOR NEXIA และในช่วงหลังมีฟิล์ม AGFA FUTURA

ฟิล์ม APS จะอยู่ในกลักฟิล์ม ที่มีขนาดเล็กลง เนื้อที่ของภาพในฟิล์มมีขนาด 16.7 x 30.2 มม. (ฟิล์ม 35 มม. มีขนาด 24 x 36 มม.) มีแถบแม่เหล็กที่เนื้อฟิล์มสำหรับบันทึกข้อมูลเรียกว่า IX หรือ Magnetic Information Exchange ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลของระบบการทำงานระหว่างกล้อง เลนส์ เครื่องล้างอัด ขยายภาพและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการถ่ายภาพ การเปิดช่องรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ สภาพแสงขนาดของภาพ จำนวนของภาพที่ต้องการอัดขยาย ข้อมูลที่จะพิมพ์ลงบนด้านหลังของภาพ เช่น วัน เดือน ปี และข้อความ (Title) ต่าง ๆ หลายภาษา เช่น HAPPY BIRTH DAY, CONGRATULATION เป็นต้น

ขนาดของภาพสามารถเลือกได้ถึง 3 ขนาด ได้แก่ C (Classic) 4 x 6 นิ้ว, H (High Definition TV) หรือ ไฮวิชั่น (High Vision) ขนาด 4 x 7 นิ้ว ( ขนาดมาตรฐานของระบบ APS) และ P (Panorama) 4 x 10 นิ้ว

กล้องที่ใช้ถ่ายภาพระบบ APS ทุกยี่ห้อทุกแบบ ทั้งชนิด Compact และ SLR ทุกตัวจะมีคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนกัน คือมีขนาดเล็ก ใช้ง่าย สามารถเลือกขนาดภาพได้ 3 ขนาด การใส่ฟิล์มเป็นระบบ Drop – in loading ลดการผิดพลาดในการใส่ฟิล์ม ฟิล์ม APS จะไม่มีหางฟิล์มเหมือนฟิล์ม 35 มม. เมื่อใส่ฟิล์มลงในกล้องแล้ว กล้องจะเปิดช่องและดึงฟิล์มออกมาโดยอัตโนมัติ ระบบการทำงานต่าง ๆ มากมายของกล้อง 135 ในปัจจุบันถูกนำมาใช้กับกล้อง APS แทบทั้งสิ้น ตัวอย่างกล้อง APS ชนิดเลนส์เดี่ยว สะท้อนภาพ เช่น NIKON PRONIA 600i, MINOLTA VECTIS S-1, CANON EOS IX, FUJI FOTONEX 4000 SL และ OLYMPUS CENTURION ส่วนกล้อง ชนิด COMPACT เช่น MINOLTA VECTIS 30, NIKON NUVIS 125 i, KODAK ADVANTIX 4100ix ZOOM และ CANON IXUS เป็นต้น

การล้างอัด ขยายภาพระบบ APS จะมีเครื่องอัดขยายภาพระบบ APS โดยเฉพาะ เช่นเครื่องนอริทสุ รุ่น 1902, 2201, 2301 และ 2611 เป็นต้น ก่อนการล้างฟิล์มจะใช้อุปกรณ์ดึงฟิล์มออกจากกลัก (Detacher) แล้วนำฟิล์มไปเก็บในกลักฟิล์มชั่วคราวก่อนนำเข้าเครื่องล้างฟิล์ม โดยใช้น้ำยาล้างฟิล์ม C-41 ที่นิยมใช้ทั่วไปในปัจจุบัน แล้วนำฟิล์มไปอัดขยายภาพฟิล์มที่ล้างและอัดขยายแล้วจะนำเข้าเครื่องใส่ฟิล์มคืนกลัก (Re – attacher) ฟิล์มทุกม้วนจะมีเลขประจำตัว (ID) ทั้งที่กลัก และที่ฟิล์มเป็นหมายเลขที่ตรงกัน สิ่งที่เพิ่มในระบบ คือ Index Prints มีขนาด 4 x 6 นิ้ว เพื่อให้ทราบว่าภาพที่ถ่ายทั้งหมดมีกี่ภาพ ภาพอะไรบ้าง ขนาดเท่าใด มีหมายเลขประจำแต่ละภาพ เพื่อความสะดวกในการสั่งอัดขยายภาพครั้งต่อไป ในปัจจุบันกล้องและฟิล์ม APS มีผู้นิยมใช้น้อยลง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น