วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

กล้องถ่ายภาพสำเร็จรูป (Instant camera)

เป็นกล้องระบบถ่ายภาพได้เร็ว มีกล้องโพลารอยด์ (Polaroid) เป็นรุ่นแรก ต่อมาก็มีกล้องโกดักอินสแตนท์ ที่มีระบบการทำงานคล้ายคลึงกัน

กล้องแบบนี้เมื่อถ่ายภาพแล้ว จะทำหน้าที่ล้าง อัดภาพในตัว เริ่มจากฟิล์มรับภาพ ซึ่งประกอบด้วยฟิล์มเนกาทิฟ และกระดาษอัดภาพพร้อมถุงน้ำยา เป็นซองฟิล์ม 1 แผ่น ฟิล์มจะเคลื่อนที่ผ่านลูกกลิ้ง ซึ่งทำหน้าที่รีดน้ำยาในถุงทำปฏิกิริยากับเนกาทิฟและกระดาษอัดภาพ เมื่อดึงฟิล์มออกมา สักครู่จึงลอกกระดาษหน้าซองฟิล์มออกจะเห็นภาพถ่ายทันที ส่วนใหญ่ใช้ถ่ายภาพ 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว ที่ต้องการใช้ด่วนและใช้ถ่ายภาพ เพื่อทดลองทิศทางการใช้แสง การจัดองค์ประกอบภาพ ก่อนถ่ายภาพจริง ในการถ่ายภาพโฆษณาและยังนิยมใช้ในวงการแพทย์ ตลอดจนนักถ่ายภาพสมัครเล่นที่ต้องการเห็นภาพถ่ายทันที

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

กล้องวิว (View Camera)

กล้องวิว เป็นกล้องขนาดใหญ่ นิยมใช้ในห้อง Studio ใช้ฟิล์มแผ่นตั้งแต่ขนาด 4” x 5”, 5” x 7” และ 8” x 10” ตัวกล้องส่วนกลางจะเป็นผ้าหรือหนังสีดำพับเป็นจีบ เรียกว่า ส่วนพับยืด (Bellow) สามารถยืดเข้าออกได้ ส่วนหน้าเป็นแผงติดเลนส์ ส่วนหลังจะเป็นแผงกระจกรับภาพ และช่องใส่ฟิล์ม ทั้งแผงหน้า และแผงหลังของกล้องตั้งยึดกับฐานรองรับ สามารถปรับเลื่อน เพื่อหาระยะชัดของภาพได้ จุดเด่นของกล้องวิว คือ แผงที่ติดเลนส์สามารถปรับก้ม – เงย (Tilt) ปรับเอียงซ้าย – ขวา (Swing) และปรับเลือนขึ้น – ลง, ซ้าย – ขวาได้ (Shift) ช่วยในการปรับแก้การบิดเบือน ปรับ Perspective จึงเหมาะสำหรับถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ภาพทิวทัศน์ การตกแต่ง และภาพในสตูดิโอ เนื่องจากใช้ฟิล์มแผ่นขนาดใหญ่ จึงสามารถนำไปขยายให้ได้ภาพขนาดใหญ่ได้ ตัวอย่างกล้องวิว เช่น กล้อง Sinar p2, Toyo-view GX, Cambo wide, Speed Graphic และ Linhof เป็นต้น

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

กล้อง 120 แบบสะท้อนภาพเลนส์คู่ (Twin lens reflex)

กล้องขนาดกลางแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัยก่อน เช่น กล้อง Rolleiflex 3.5 F, Rolleicord, Mamiya C 330, Yashica Mat, Minolta Autocord เป็นต้น ใช้ฟิล์มขนาด 120 ให้ภาพขนาด 6 x 6 ซม. เป็นกล้องที่มีเลนส์ 2 เลนส์ เลนส์ตัวบนใช้สำหรับมองภาพ ทำหน้าที่สะท้อนภาพขากวัตถุไปยังกระจกฝ้าที่เป็นจอรับภาพ ภาพที่ได้จะเป็นภาพกลับซ้ายเป็นขวา เลนส์จอรับภาพ ภาพที่ได้จะเป็นภาพกลับซ้ายเป็นขวา เลนส์ตัวล่างทำหน้าที่รับแสงสะท้อนภาพ ผ่านช่องรับแสงเข้าสู่ฟิล์ม เลนส์ทั้ง 2 ตัว จะมีขนาดความยาวโฟกัสเท่ากัน และมีมุมการรับภาพเท่ากัน บางรุ่นจะมีเครื่องวัดแสงไว้ที่ตัวกล้องด้วย แต่กล้องแบบนี้ส่วนใหญ่ ไม่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์เป็นขนาดต่าง ๆ ได้ จะมีอยู่ก็เพียงบางรุ่นเท่านั้น เวลาเปลี่ยนต้องยกแผงเลนส์ออกทั้งชุด ม่านชัตเตอร์ใช้แบบกลีบโลหะระหว่างเลนส์ จึงสัมพันธ์กับแฟลชทุกความเร็วชัตเตอร์ ในปัจจุบันกล้องขนาดกลาง 120 แบบสะท้อนเลนส์คู่เลิกผลิต จึงหันมานิยมใช้กล้อง 120 SLR แทน

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

กล้อง 120 สะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว

เป็นกล้องขนาดกลาง (Medium format) ที่มีระบบการทำงานก้าวหน้าใกล้เคียงกับกล้อง 35 มม. SLR แตกต่างกันก็ที่ การออกแบบรูปร่าง และขนาดใหญ่กว่าใช้ฟิล์มขนาด 120 หรือ 220 ซึ่งจะให้ฟิล์มมีขนาดตั้งแต่ 4.5 x 6 ซม., 6 x 6 ซม., 6 x 7 ซม. และ 6 x 9 ซม. สามารถนำฟิล์มไปขยายภาพได้ขนาดใหญ่ถึง 16 x 20 นิ้ว หรือ 20 x 24 นิ้ว ระบบการมองภาพของกล้อง 120 SLR จะเป็นแบบมองภาพระดับเอว หรือมองจากด้านบน ภาพที่ได้จะกลับซ้ายเป็นขวา แต่ก็มีที่เปลี่ยนเพื่อให้มองภาพระดับตาได้ ทำให้มองเห็นภาพเหมือนจริง กล้อง 120 SLR โดยทั่วไป สามารถถอดเปลี่ยนแม็กกาซีนบรรจุฟิล์มชนิด และขนาดต่าง เช่น ฟิล์มขาว - ดำ ฟิล์มเนกาทีฟสี หรือฟิล์มสไลด์เพื่อให้ได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการถ่ายภาพ และที่มืออาชีพนิยมใช้อีกอย่างหนึ่ง คือแม็กกาซีนสำหรับใส่ฟิล์มโพลาลอยด์ ซึ่งสามารถดูภาพได้ทันที เพื่อตรวจสอบการจัดแสงและองค์ประกอบของภาพ กล้องขนาดกลางจะไม่มีระบบวัดแสงรวมอยู่ในตัวกล้องต้องใช้เครื่องวัดแสงแยกต่างหาก แต่ในปัจจุบันบางรุ่นได้ปรับปรุงให้มีระบบวัดแสงผ่านเลนส์ควบคุมการถ่ายภาพระบบอัตโนมัติ และระบบเลื่อนฟิล์มอัตโนมัติรวมอยู่ในตัวกล้อง กล้อง 120 SLR ทุกรุ่น สามารถถอดเปลี่ยนใช้เลนส์ขนาดต่าง ๆ เหมาะสำหรับนักถ่ายภาพอาชีพ กล้อง 120 SLR ปัจจุบันมีอยู่หลายยี่ห้อ และหลายรุ่น เช่น Hasselblad 2000 FC, 2000FC/M, 203 FE, 201 F, 205 TTC, 501 C, 503 Cxi, Mamiya RB67, RZ 67, 645 PRO, Pentax 67, 645, RolleifiexSLX, Bronica GS-1, SQ-Ai, ETR Si, Fuji GS 645S, GX617 ภาพมุมกว้างและพาโนรามา, Linhof tecnoramas เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

กล้อง 35 มม.

กล้องชนิดนี้ใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. เป็นกล้องที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง มีความคล่องตัวในการใช้งาน ให้ประโยชน์ครอบคลุมได้มาก มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง มีระบบการทำงานแตกต่างกันออกไป แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

3.1 กล้อง 35 มม. ชนิดคอมแพค (Compact cameras)

เป็นกล้อง 35 มม. ที่มีรูปร่างเล็ก กะทัดรัด น้ำหนักเบา ถือไปมาสะดวก ใช้ง่าย ผู้ถ่ายภาพเพียงแต่จัดองค์ประกอบ ยกกล้องขึ้น เล็งแล้วกด (Point and shoot) ก็จะได้ภาพตามต้องการ กล้อง 35 มม. คอมแพคชนิดธรรมดาจะมีราคาค่อนข้างต่ำ เพียงไม่กี่ร้อยถึงพันบาทขึ้นไป เป็นกล้องที่มีเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว มีระยะโฟกัสคงที่หรือออโต้โฟกัสหลายระดับ สามารถบันทึกภาพได้ชัดตั้งแต่ระยะใกล้สุดถึงไกลสุด บางกล้องจะมีที่ปรับระยะได้เพียง 3 ระยะ คือ ระยะใกล้ ระยะปานกลางและระยะไกลสุด เลนส์จะมีลักษณะเป็นเลนส์มุมกว้าง 35 มม. หรือ 28 มม. มีขนาดช่องรับแสง f/11 หรือ f/16 และความเร็วชัตเตอร์เพียงขนาดเดียวซึ่งมักใช้ 1/60 หรือ 1/125 วินาที เหมาะสำหรับใช้กับฟิล์มความไวแสง 200 ISO ไม่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ มีระบบมองภาพโดยตรง (Viewfinder camera) ช่องเล็งภาพของกล้องชนิดนี้มีไว้ เพื่อมองลักษณะของภาพที่จะถ่ายให้เหมาะสมอยู่ในกรอบภาพเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการปรับหาระยะความชัดของเลนส์ถ่ายภาพ แต่อย่างใด

กล้องถ่ายภาพ 35 มม. คอมแพคบางกล้องมีระบบปรับระยะชัดได้ (Rangefinder camera) โดยที่ช่องเล็งภาพของกล้องแบบนี้ ทำงานสัมพันธ์กับการปรับระยะชัดของเลนส์ถ่ายภาพ เมื่อมองที่ช่องเล็งภาพ ภาพที่ยังไม่ได้ระยะความชัด จะมองเห็นเป็นภาพเงาเหลื่อมซ้อนกันอยู่ ผู้ถ่ายภาพจะต้องปรับที่เลนส์ให้ภาพที่เป็นเงาเหลื่อมซ้อนกันอยู่นั้น ทับกันสนิท จึงจะได้ภาพชัดเจน เช่น กล้อง Nikon 35 Ti แมนนวลโฟกัส และ Konica kexar ออโต้โฟกัส เป็นต้น

ในปัจจุบันระบบการทำงานของกล้อง 35 มม. คอมแพค ส่วนใหญ่จะเป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมด เช่น ระบบโฟกัสภาพ ระบบใส่ฟิล์ม เดินฟิล์ม กรอฟิล์ม กลับ ระบบตั้งความไวฟิล์ม ระบบวัดแสงและบันทึกภาพ ควบคุมด้วยระบบโปรแกรม โดยปรับความเร็วชัตเตอร์ และช่องรับแสงอัตโนมัติและมีแฟลชอิเล็กทรอนิกส์ติอยู่ในตัวกล้อง ทำให้การถ่ายภาพสะดวกและแม่นยำมากขึ้น

ในกล้องคอมแพคซูมที่สามารถเปลี่ยนระยะทางยาวโฟกัสได้ เช่น 35 – 70 มม., 28 – 100 มม., 38 – 150 มม. เป็นต้น มีระบบการทำงานที่เหนือกว่ากล้องคอมแพคธรรมดามาก บางครั้งมักเรียกว่ากล้อง ซุปเปอร์คอมแพค ในหลายรุ่นจะมีปุ่มมาโคร สำหรับถ่ายภาพในระยะใกล้ ระบบออโต้โฟกัส เลือกโฟกัสเฉพาะจุด มีแสงไฟเตือน ซูมเลนส์แบบพาวเวอร์ มีโปรแกรมถ่ายภาพประกอบต่าง ๆ เช่น ภาพทิวทิศน์ ภาพคน ถ่ายภาพซ้อน แฟลชแก้ตาแดง แฟลชลบเงา สัมพันธ์แฟลชกับความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ถ่ายภาพมุมกว้าง หรือพาโนรามา สามารถตั้งเวลาในการบันทึกภาพ ฝาหลังบันทึกวัน เวลา แสดงผลข้อมูลการถ่ายภาพทางจอ LCD ทางด้านหลังของกล้อง ตัวอย่างกล้อง 35 มม. ซุปเปอร์คอมแพค เช่น Canon prima super 115, Olympus super zoom 120, Konica hezar, Contax TVS, Nikon zoom 700 VR, Minolta riva zoom 135 EX, Pentax espio 140, Canon SURE SHOT 150 u และ Leica CM เป็นต้น

3.2 กล้อง 35 มม. แบบสะท้อนเลนส์เดี่ยว (Single – lens reflex camera)

กล้อง 35 มม. แบบสะท้อนเลนส์เดี่ยวหรือ เรียกว่า กล้อง 35 มม. SLR นี้นับได้ว่าเป็นกล้องยอดนิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุด ทั้งระดับมืออาชีพและมือสมัครเล่นโดยทั่วไป เป็นกล้องที่มีอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ อย่างครบครัน ส่วนใหญ่สามารถถอดเปลี่ยนใช้เลนส์ขนาดต่าง ๆ ได้ เช่น เลนส์มุมกว้างพิเศษ เลนส์เทเลกำลังขยายสูง รวมทั้งเลนส์ซูม เลนส์มาโคร และเลนส์พิเศษอื่น ๆ ระบบการมองภาพจะสัมพันธ์กับการปรับระยะความชัดของเลนส์ทุกขนาด ภาพที่เห็นในช่องเล็งภาพ จะมีลักษณะเหมือนกับมุมการรับภาพจากเลนส์ทุกประการ เมื่อมองที่ช่องเล็งภาพ แสงจะสะท้อนจากวัตถุผ่านเลนส์เข้ากล้องสู่กระจกเงาที่วางเฉียง 45 องศา สะท้อนภาพ ผ่านไปยังแก้วปริซึม 5 เหลี่ยมที่อยู่ ส่วนบนของกล้อง แล้วหักเหออกสู่สายตาทางช่องเล็งภาพ เมื่อขึ้นชัตเตอร์และกดปุ่มไกชัตเตอร์ กระจกสะท้อนภาพจะกระดกขึ้นปล่อยให้แสง ผ่านชัตเตอร์ ซึ่งจะเปิด และปิดตามระยะเวลาที่กำหนดภาพจะถูกบันทึกลงบนฟิล์ม จากนั้นกระจกสะท้อนภาพก็จะกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม

ในกล้อง 35 มม. SLR มีเครื่องกลไกและระบบไฟฟ้าที่สลับซับซ้อนมากด้วยเทคนิคที่ก้าวหน้าดังกล่าว จึงสามารถทำให้กล้องมีระบบการทำงานที่ใช้ได้ง่าย มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีอุปกรณ์อื่น ๆ ที่อำนวยประโยชน์ในการถ่ายภาพอย่างมากมาย เช่นมี Motor drive และ Auto winder เพื่อช่วยขับเคลื่อนฟิล์มและขึ้นชัตเตอร์โดยอัตโนมัติ ในตัวกล้องจะมีโหมดสำหรับบันทึกภาพเคลื่อนไหว ใช้คำ Hi – program หรือ Action program โดยกล้องจะเลือกใช้ความเร็วสัมพันธ์กับช่องรับแสง มีโหมดเช็คระยะชัดอัตโนมัติ ระบบล็อคความจำแสง (AE lock) เช่น ต้องการถ่ายภาพคนย้อนแสง ต้องเข้าไปวัดแสงที่บริเวณใบหน้า คนใกล้ ๆ แล้วกดปุ่มล๊อคความจำแสงไว้ จากนั้นจึงถอยออกมาเพื่อจัดองค์ประกอบของภาพใหม่ ปรับระยะชัดแล้วกดไกชัตเตอร์ มีระบบตั้งความไวฟิล์มอัตโนมัติ (DX code) เพื่อป้องกันการลืมในการเปลี่ยนความไวฟิล์มเมื่อเปลี่ยนฟิล์มม้วนใหม่ ในปัจจุบัน กล้อง 35 มม. SLR มีระยยการวัดแสงรวมอยู่ภายในตัวกล้องการแสดงผลในช่องเล็งภาพมีทั้งระบบบอกความพอดีของแสง ด้วยเข็มสัญญาณตัวเลข หรือด้วยจุดสัญญาณไฟฟ้า (LED) และมีการแสดงผลด้วยจอบนตัวกล้องในระบบ LCD เป็นภาพกราฟฟิคบอกข้อมูลด้วย เช่น ความเร็วชัตเตอร์ ช่องรับแสง การชดเชยแสง จำนวนภาพ ความไวแสงฟิล์ม ระบบเตือนแฟลช พร้อม แฟลชแก้ตาแดง เตือนสัญญาณโอเวอร์ อันเดอร์ การปรับชัด ล็อคความจำซูม เตือนระบบพาโนรามา เตือนแบตเตอรี่อ่อน ฯลฯ กล้อง 35 มม. แบบสะท้อนเลนส์เดี่ยว จะมีอยู่ใน 4 ระบบ คือ

3.2.1 ระบบกลไก (Manual)

กล้อง 35 มม. แบบสะท้อนเลนส์เดี่ยระบบกลไก เป็นกล้องที่ผู้ถ่ายภาพจะต้องเลือกปรับช่องรับแสง เลือกปรับความเร็วชัตเตอร์เอง โดยมีเครื่องวัดแสงผ่านเลนส์ รวมทั้งต้องปรับระยะชัดเอง นิยมใช้กันมากในวงการศึกษาวิชาการถ่ายภาพพื้นฐาน เช่น กล้อง Pentax K – 1000, Nikon FM 2 N, FM 10, Yashica FX – 3Super 2000, Olympus OM – 3 Ti, Cosina CT-1 Super เป็นต้น

3.2.2 ระบบปรับความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ (Aperture priority)

ใช้อักษรย่อ AV หรือ A เป็นระบบที่ผู้ถ่ายภาพจะเลือกปรับขนาดช่องรับแสง (Aperture) หรือเอฟสตอป (F/stop) ตามความต้องการก่อน และกล้องจะเลือกปรับระดับความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กัน เพื่อการรับแสงได้พอดี กล้องที่มีระบบปรับความเร็วชัตเตอร์ไปที่อักษร AV หรือ A (Auto) ระบบนี้จะให้ผลดีสำหรับงานที่ต้องการควบคุมระยะชัดลึกของภาพเป็นสำคัญ

3.2.3 ระบบปรับขนาดช่องรับแสงอัตโนมัติ (Shutter priority)

ใช้อักษรย่อ TV หรือ S ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ถ่ายภาพจะเลือกตั้งความเร็วชัตเตอร์ก่อน แล้วกล้องจะเลือกปรับขนาดช่องรับแสงให้สัมพันธ์กันเพื่อให้ได้รับพอดี กล้องระบบนี้จะให้ผลดีสำหรับงานที่ต้องการควบคุมเกี่ยวกับความเร็วของวัตถุ ได้แก่ ภาพแสดงการเคลื่อนไหวต่าง ๆ

3.2.4 ระบบโปรแกรมสัมพันธ์อัตโนมัติ (Programmed)

ใช้อักษรย่อ P เป็นระบบที่กล้องจะเลือกปรับเอง ทั้งความเร็วชัตเตอร์และขนาดช่องรับแสง ผู้ถ่ายภาพเพียงตั้งความไวแสงฟิล์มให้ถูกต้อง ปรับระยะชัดแล้วกดไกชัตเตอร์ กล้องจะปรับแสงให้ถูกต้องพอดีตามสภาพแสง เป็นระบบที่กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะใช้ง่าย กล้องบางรุ่นจะมีระบบอัตโนมัติรวมอยู่หลายระบบเรียกว่า Multi mode คือมีทั้งระบบปรับความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ ระบบปรับขนาดช่องรับแสงอัตโนมัติ และมีระบบวัดแสงปรับตั้งธรรมดารวมอยู่ด้วย เช่น Pentax Super A, Nikon PA, Canon A-1 เป็นต้น

นอกจากนี้กล้อง 35 มม. SLR บางรุ่นยังได้ เพิ่มระบบปรับความชัดอัตโนมัติ (Auto focusing) โดยใช้กับเลนส์ Auto focus (AF) เช่น Pentax Z-20, Nikon F2/AF, F4S, F50, F90X, Canon AL-1, EOS-1, EOS-100, EOS-888, EOS-5 QD, Olympus IS100, Ricoh XR-F, Sigma SA-500 SA-300 N เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

กล้องฟิล์มกลัก 126

กล้องแบบนี้มักเรียกว่ากล้องอินสตาเมติค (Instamatic Camera) ใช้ง่าย มีระบบการมองภาพโดยตรงที่ช่องเล็งภาพ ไม่ต้องปรับระยะชัด ช่องรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ แต่กล้องชนิดนี้ในบางรุ่นที่มีที่ปรับระยะชัด โดยปรับตามเครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์ มักมี 3 ระยะ คือ ระยะใกล้ ระยะปานกลาง และระยะไกล สามารถใช้กับไฟแฟลชอิเล็กทรอนิกส์ได้ บางกล้องยังมีไฟแฟลชติดอยู่กับตัวกล้องอีกด้วย

กล้องฟิล์มกลัก 126 มีหลายแบบ เช่น Kodak instamatic 177X, 277X, Kodak X – 35F, Agfamatic 55C, 108, 204 เป็นต้น ปัจจุบันไม่มีกล้องและฟิล์มชนิดนี้จำหน่าย

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

กล้องขนาดเล็ก 110 Pocket

เป็นกล้องขนาดเล็ก ใช้กับฟิล์มแบบกลักขนาด 16 มม. และบางชนิดใช้กับฟิล์มขนาด 110 แบบกลัก มักเรียกกล้อง 110 Pocket กล้องแบบนี้มองภาพถ่ายโดยตรงที่ช่องเล็งภาพ มีขนาดของช่องรับแสงขนาดเดียว ความเร็วของชัตเตอร์ก็มีระดับเดียว เลนส์ถอดเปลี่ยนไม่ได้ ไม่ต้องปรับระยะชัดเป็นกล้องชนิดที่ถ่ายง่าย ๆ ถือไปมาสะดวก ให้คุณภาพของภาพถ่ายดีพอสมควร เหมาะสำหรับถ่ายภาพเล่น ๆ เป็นที่ระลึก

กล้องชนิดนี้ได้ปรับปรุงและพัฒนาขึ้นตามลำดับ สามารถปรับระยะชัด เปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ เปลี่ยนขนาดช่องรับแสง มีระบบวัดแสงในตัว ควบคุมการถ่ายภาพโดยอัตโนมัติ สามารถใช้กับแฟลชอิเล็กทรอนิกส์ได้ บางกล้องใช้เลนส์ชนิดเลนส์ซูม ถ่ายภาพระยะใกล้ – ไกลได้อีก มีระบบสะท้อนภาพ (SLR) ควบคุมการถ่ายโดยอัตโนมัติ และมีเครื่องช่วยขับเคลื่อนฟิล์มโดยอัตโนมัติอีกด้วย

กล้องขนาดเล็กมีหลายยี่ห้อและหลายรุ่น เช่น Agfamatic 2008, Cannon 110 Ed, Fujica 350 Zoom, Minolta 250 เป็นต้น ปัจจุบันไม่มีกล้องและฟิล์มชนิดนี้จำหน่าย

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

ชนิดของกล้องถ่ายภาพ

กล้องถ่ายภาพนับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการถ่ายภาพ ในปัจจุบันมีผู้ผลิตจำหน่ายกล้องถ่ายภาพหลายระบบทั้งชนิดที่ใช้ฟิล์ม และระบบดิจิตอลที่ไม่ใช้ฟิล์ม มีหลายประเภท หลายชนิดแตกต่างกันออกไป ทั้งลักษณะรูปร่าง ประสิทธิภาพของการใช้งาน ตลอดจนระบบการทำงานของตัวกล้อง พอที่จะแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

1. กล้องขนาดเล็ก 110 Pocket

2. กล้องฟิล์มกลัก 126

3. กล้อง 35 มม.

4. กล้อง 120 สะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว

5. กล้อง 120 แบบสะท้อนภาพเลนส์คู่ (Twin lens reflex)

6. กล้องวิว (View Camera)

7. กล้องถ่ายภาพสำเร็จรูป (Instant camera)

8. กล้อง APS (Advanced Photo System)

9. กล้องดิจิตอล (Digital camera)

10. กล้องชนิดพิเศษ






วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

วงแหวนปรับชัด (Focusing ring)

ที่เลนส์ถ่ายภาพจะมีอุปกรณ์ส่วนที่ใช้เพื่อการปรับระยะชัดของภาพถ่าย คือ วงแหวนปรับชัดโดยปกติที่เลนส์จะมีตัวเลขบอกระยะทางความชัดของภาพเป็นฟุต (ft) และเป็นเมตร (m) จนถึงระยะไกลสุด (infinity) ใช้สัญลักษณ์ α การถ่ายภาพเพื่อให้ได้ ภาพที่ชัดเจนนั้น ผู้ถ่ายภาพจะต้องกะระยะทางจากล้องถึงวัตถุแล้ว ปรับระยะชัดที่วงแหวนตามตัวเลข ซึ่งอาจเป็นฟุตหรือเป็นเมตรก็ได้ นอกจากนั้นอาจดูความชัดของภาพที่ถ่ายจากช่องเล็งภาพ ซึ่งมีอยู่ 3 ระบบ ใหญ่ ๆ คือ

1. ระบบให้ภาพซ้อนกัน (Super impose) ในช่องเล็งภาพของกล้องแบบนี้ จะมองเห็นวัตถุที่จะถ่ายมี 2 ภาพซ้อนกัน ต้องปรับวงแหวนปรับชัดให้ ภาพทั้ง 2 ภาพ ที่ซ้อนกันหรือยังเหลื่อมกันอยู่มาซ้อนทับกันสนิทจนเป็นภาพเดียวกัน


1. ระบบภาพแยก (Split image) ในช่องเล็งภาพของกล้องแบบนี้ ตรงกลางจอรับภาพจะเป็นวงกลมใส มีเส้นผ่ากลางแบ่งครึ่งภาพให้แยกจากกัน ถ้ายังไม่ได้ปรับความคมชัดของภาพส่วนบนและส่วนล่าง จะไม่ตรงกัน ต้องปรับที่วงแหวนปรับชัด จนทำให้ภาพให้ทั้งสองส่วนต่อกันให้ตรงจนเป็นภาพที่สมบูรณ์

1. ระบบมองภาพในกระจกฝ้าให้ชัดเจน (Ground glass) การปรับระยะชัดแบบนี้ ได้แก่ การปรับระยะชัดที่วงแหวนปรับชัดของเลนส์ หากภาพที่ปรากฏที่ช่องเล็งภาพชัดเจน แสดงว่าภาพที่ปรากฏบนฟิล์มก็จะชัดด้วย การปรับระยะชัดแบบนี้มักมีในกล้องแบบสะท้อนเลนส์เดี่ยวแบบสะท้อนเลนส์คู่ และกล้องวิวที่ใช้กับฟิล์มแผ่น

สำหรับกล้องถ่ายภาพแบบง่าย ที่วงแหวนปรับชัดจะมีสัญลักษณ์ บอกระยะความชัดจากวัตถุถึงเลนส์เป็นภาพง่าย ๆ เพียง 3 ระยะ เท่านั้น คือ ถ่ายภาพระยะใกล้ ประบวงแหวนไปที่ ภาพบุคคล 1คน ถ่ายภาพในระยะปานกลาง ปรับวงแหวนไปที่ ภาพบุคคลหลาย ๆ คน และถ่ายภาพระยะไกล ปรับวงแหวนไปที่รูปทิวทัศน์ (ภูเขา)

ส่วนกล้องถ่ายภาพรุ่นใหม่ จะมีเลนส์ถ่ายภาพชนิดปรับชัดอัตโนมัติ (Auto focus lens) หรือเรียกว่าเลนส์ AF ซึ่งใช้ร่วมกับกล้องที่มีกลไกปรับชัดโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังมีวิวัฒนาการของการปรับชัด ของภาพโดยใช้สัญญาณเสียง (Sonar auto focus) ซึ่งใช้ในกล้องโพลารอยด์ SX 70 โซน่าร์, โพลารอยด์ 5000 เป็นต้น การปรับชัดของกล้องถ่ายภาพอีกแบบหนึ่ง คือ การใช้คลื่นความร้อนหรือรังสีใต้แดง (Infrared ray) ซึ่งสามารถปรับระยะชัดของภาพได้เองทั้งในที่มืด และที่สว่าง

การที่มีระบบปรับระยะชัดอัตโนมัติก็เนื่องจากตาของคนเรา มักจะมีความคลาดเคลื่อนในการมองภาพในช่องเล็งภาพ ซึ่งบางครั้งเป็นเสมือนว่ามีความคมชัด แต่ความเป็นจริงแล้ว จะไม่คมชัดที่สุด ระบบปรับชัดอัตโนมัตินอกจากจะได้ภาพถ่ายที่คมชัดแล้ว ยังช่วยในการถ่ายภาพเหตุการณ์โดยฉับพลัน ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น