วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อาวุธลับของช่างภาพทิวทัศน์

ก่อนหน้านี้คุณได้เรียนรู้ว่าฟิลเตอร์โพบาไรซ์มีความสำคัญมากเพียงใด ส่วนประกอบของฟิลเตอร์ คงไม่ได้มีอะไรสำคัญ แต่มันเป็นอาวุธลับของช่างภาพมืออาชีพด้านทิวทัศน์ ฟิลเตอร์นี้จะช่วยให้แสงที่พื้นกับท้องฟ้าสมดุลกันเพื่อจับระดับของแสง ซึ่งหากไม่มีฟิลเตอร์ กล้องของพวกเขาก็ไม่สามารถถ่ายภาพสวยได้เลย (จับแสงที่พื้นหรือท้องฟ้าแต่ไม่ได้จับแสงในครั้งเดียวกัน) ไม่สามารถถ่ายภาพสวยได้เลย (จับแสงที่พื้นหรือท้องฟ้าแต่ไม่จับแสงในครั้งเดียวกัน) ตัวอย่าเช่น คุณกำลังถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก หากคุณจับแสงที่ท้องฟ้า ท้องฟ้าก็จะดูดีแต่พื้นก็จะดูมืดเกินไป หากคุณจับแสงที่พื้น ท้องฟ้าก็จะดูสว่างเกินไป แล้วทำยังไงที่จะให้ท้องฟ้าและพื้นดูสมดุลกัน ลองใช้ฟิลเตอร์ Neutral density gradient (ฟิลเตอร์ที่ทำให้ภาพส่วนบนสุดเป็นสีดำและทำให้ภาพส่วนล่างโปร่งแสง) ที่ทำให้ท้องฟ้าดูมืดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเกรเดียนท์ซึ่งมันจะทำให้มืด (ที่ส่วนบนสุด) และพื้นล่างนั้นโปร่งแสง ด้วยวิธีนี้จะทำให้ท้องฟ้าดูมืดเท่านั้น แต่ท้องฟ้าก็อาจจะมืดที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่าอยู่บ้าง ผลของภาพที่ออกมาก็คือทั้งท้องฟ้าและพื้นดินจะมีแสงสมดุลกันพอดี

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ลบแสงแฟลร์ออกไปง่าย ๆ ด้วยมือคุณเอง

คุณรู้ไหมเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ต้องสวมหมวกเบสบอลขณะถ่ายภาพ (นอกจากเหตุผลที่คุณรู้อยู่แล้ว 2 ข้อคือ (1) เราใส่หมวกเพื่อป้องกันอันตรายรังสีแสงอาทิตย์ (2) เราใส่หมวกเพราะมันดูเท่ห์ดี ) คือช่วยป้องกันได้ แต่ผมพบว่าการใช้ที่บังแสงอย่างเดียวนั้นไม่พอเสียแล้ว เราถึงต้องนำเอาหมวกเบสบอลเข้ามาช่วยโดยถือหมวกให้อยู่เหนือกล้องทางด้านซ้ายหรือด้านขวาบนของเลนส์ (ขึ้นอยู่กับแสงอาทิตย์อยู่ที่ตำแหน่งใด) จากนั้นมองผ่านช่องมองภาพเพื่อดูว่า (1) คุณถือหมวกในตำแหน่งที่ถูกต้องซึ่งจะช่วยกันแสงแฟลร์จากดวงอาทิตย์ (ได้ง่ายกว่าที่คุณคิด) และ (2) ดูว่าหมวกไม่ได้ปรากฏเข้ามาในภาพของคุณ (ผมมีภาพมากกว่าภาพที่มีขอบหมวกติดเข้ามาในกรอบ ผมเดาว่าเหตุที่พวกเขาต้องแก้ไขภาพในโปรแกรม Photoshop ก็เพื่อลบขอบหมวดนั่นเอง ) ผมยังรู้สึกแปลกใจว่าเทคนิคที่ใช้มือในการทำงานมีประสิทธิภาพในการลบแสงแฟลร์ได้ผลดีทีเดียว

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เคล็ดลับการเก็บรักษาอุปกรณ์ของคุณ

หมอกและความชื้นเป็นชื่อเรียกเล่น ๆ ของน้ำ และกล้องดิจิตัลที่มีคุณภาพก็ไม่ชอบน้ำ แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอุปกรณ์ของคุณจะไม่เปียกน้ำในสักวันหนึ่ง เพื่อความปลอดภัยคุณควรซื้ออุปกรณ์กันน้ำสำหรับกล้องของคุณจากร้านกล้องชั้นนำทั่วไป แต่ในกรณีฉุกเฉินก็ให้คุณใช้หมวกอาบน้ำจากห้องพักในโรงแรมคลุมกล้องไว้ก่อน อาจดูไม่สวยแต่ใช้งานได้ดีจริง ๆ

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บรรยากาศคือเพื่อนของคุณ

นอกจากบรรยากาศจะช่วยเราให้มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้แล้ว บรรยากาศ (หรือหมอก) สามารถทำให้ภาพทิวทัศน์บางแห่งดูน่าสนใจ (เรากำลังพูดถึงแสงนุ่ม ๆ ที่ฟุ้งกระจายเหมือนอยู่บนสวรรค์) ผมโปรดปรานภาพบางภาพที่ถ่ายท่ามกลางหมอกกระจายไปทั่วทิวเขา (แต่แน่นอนว่า คุณจำเป็นต้องถ่ายจากจุดที่เหนือหมอกหรือยอดเขาสูงขึ้นไป) ผมได้ถ่ายภาพม้าบนชายหาด กับหมดที่ปกคลุมไปทั่วบริเวณและมันก็ได้สร้างเอฟเฟ็กต์เหมือนหนังแฟนตาซี ฮอลลีวู้ดที่ดูอลังการบนแผ่นฟิล์ม (ฟิล์มกล้องดิจิตัลนะครับ) ยังมีลำแสงที่อยู่ในป่า, ลำแสงที่ส่องผ่านความชื้นในอากาศหรือผ่านหมอกหนาทึบก็ให้ภาพที่น่าทึ่งได้เช่นเดียวกัน คุณลองตื่นเช้าขึ้นอีกสักนิด (หรือยอมอดข้าวเย็นสักมื้อ) เพื่อเก็บบรรยากาศเหล่านี้ดูบ้างก็ดีนะครับ)

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ถ่ายภาพอะไรในวันที่อากาศไม่เป็นใจ

คุณกำลังคิดว่าวันนี้อากาศไม่ดี ออกไปถ่ายภาพก็คงไม่ได้ภาพสวย ๆ แน่ คุณก็เลยใช้เวลาทั้งวันนั่งแก้ไขภาพในโปรแกรม Photoshop ความคิดนี้ก็ใช้ได้นะ แต่คุณรู้ไหมว่าคุณกำลังพลาดโอกาสถ่ายภาพสวย ๆ เช่น

(1) หลังฝนตกใหม่ ๆ ขณะที่ยังมีเมฆครึ้มอยู่ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะถ่ายภาพป่าเขียวขจีให้โดดเด่นขึ้นมา (สีของใบไม้ดูอิ่มตัวมากขึ้นและเหมือนมีชีวิต แม้แต่ใบไม้ที่อยู่บนพื้นก็ดูมีชีวิตชีวา ประกอบกับหยดน้ำบนใบไม้และดอกไม้ก็ช่วยเพิ่มความน่าสนใจได้เป็นอย่างดี), สายน้ำที่ปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำและน้ำตก (คุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำขณะที่ดวงอาทิตย์หลบอยู่หลังเมฆครึ้ม)

(2) หากเกิดพายุขึ้นมาก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะถ่ายภาพหลังจากที่ฝนหยุดตกและท้องฟ้าเปิดให้พระอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกมาจากเมฆ แล้วภาพที่งดงามก็จะมาปรากฏต่อหน้าคุณประมาณสองสามนาทีแล้วเริ่มมีพายุอีกครั้งหรือกลับมาสว่าง (ศัตรูตัวฉกาจของช่างภาพที่ถ่ายภาพกลางแจ้ง) ดังนั้นจงพร้อมรับความน่าอัศจรรย์ท่ามกลางพายุที่ควรค่าแก่การรอคอย

(3) ก่อนที่พายุ จะ อันตรธาน คุณสามารถเก็บภาพท้องฟ้าที่ดูน่าทึ่งมาก ๆ ได้ เพราะมีทั้งเมฆ บางครั้งก็มีแสงสีสันสดใสหรือลำแสงที่ดูมีพลังออกมา ผู้คนส่วนใหญ่มักจะพลาดภาพเหล่านี้ ดังนั้นจงเตรียมพร้อมตลอดเวลา (โปรดอย่าถ่ายภาพท่ามกลางสายฝนเพื่อป้องกันตัวคุณ และอุปกรณ์ของคุณนะครับ)

วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทริคที่ทำให้ภาพมีสีที่สดใสขึ้น

อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่มืออาชีพใช้เพื่อทำให้ภาพมีสีสดใสมีชีวิตชีวา คือ ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (Polarize) เราใช้ฟิลเตอร์นี้สวมเข้าไปที่เลนส์เพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (Polarize) นั้นเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากที่สุดตัวหนึ่ง เราจะสวมฟิลเตอร์เข้าไปที่หน้าเลนส์ ฟิลเตอร์จะทำหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือ (1) มันจะช่วยตัดแสงสะท้อนในภาพของคุณ (โดยเฉพาะในน้ำ, บนก้อนหิน หรือพื้นผิวที่สะท้อนแสงได้ และ (2) มันจะใส่สีฟ้าเข้มไปในท้องฟ้าโดยการทำให้ท้องฟ้ามืดลง เพราะทำให้สีอิ่มตัวทั่วทั้งภาพ (อย่างนี้ใครจะไม่อยากใช้ล่ะ) เคล็ดลับการใช้ฟิลเตอร์ก็คือ (1) ตัวโพลาไรซ์ (Polarize) จะให้ผลดีมากที่สุด ในขณะที่คุณหามุมถ่ายภาพที่ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ หากแสงอยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังคุณ ฟิลเตอร์จะทำงานไม่ดีนัก และ (2) คุณสามารถหมุนฟิลเตอร์เพื่อปรับค่า (และมุม) ของแสง (คุณสามารถเลือกลบแสงสะท้อนจากท้องฟ้าหรือบนฟ้าได้) เมื่อคุณเห็นความแตกต่างของการใช้ฟิลเตอร์แล้ว คุณจะต้องพูดว่า อ๋อ มันดีอย่างนี้นี่เอง

เคล็ดลับของฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (Polarize)

หากคุณมีเลนส์ที่ไม่สามารถสวมฟิลเตอร์โพลาไรซ์ได้ อย่างเช่น เลนส์มุมกว้างมาก (Super – wide- angle) (เช่นเลนส์ขนาด 12 mm หรือ 10.5 mm เป็นต้น) เพราะวงของกระจกนั้นกว้างมากจึงไม่สามารถให้เฉดสีฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะเหตุนี้ช่างภาพมืออาชีพจึงหลีกเลี่ยงการใช้ฟิลเตอร์นี้กับเลนส์มุมกว้างมาก เมื่อต้องใช้ฟิลเตอร์ก็ควรซื้อฟิลเตอร์ที่ดีมีคุณภาพเพื่อให้แสงสีสมดุลอย่างแท้จริง

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รีบตั้งขาตั้งกล้องไปทำไม

สมมติว่าคุณกำลังท่องเที่ยวไปในสถานที่ (ที่มีทัศนียภาพสวยงาม, ทิวเขา, น้ำตก) แล้วคุณกำลังตั้งขาตั้งกล้องและเริ่มการถ่ายภาพ จะมีโอกาสสักกี่ครั้งที่คุณจะได้ถ่ายภาพในมุมมองที่สมบูรณ์แบบตรงหน้าเช่นนี้ ขอบอกว่าค่อนข้างน้อย เพราะผู้คนส่วนใหญ่พอเจอมุมสวย ๆ ที่ว่า ปุ๊บ ก็จะรีบตั้งขาตั้งกล้องในที่ที่ตัวเองกำลังยืนอยู่ปั๊บ แล้วเริ่มถ่ายภาพเหมือนกับคุณ ผมไม่แปลกใจเลยที่พวกเขาลงเอยด้วยการถ่ายภาพฉากเดียวกันเหมือนกันหมดทุกคน อย่าตกหลุมพรางนี้เข้าล่ะ ก่อนที่คุณจะตั้งขาตั้งกล้อง ให้คุณใช้เวลาสักครู่หนึ่งเพื่อเดินไปรอบ ๆ ให้สบายใจ และดูสิ่งที่คุณจะถ่ายในมุมที่ต่างกันแล้วคุณก็จะเห็นโอกาส ที่เกือบจะรับประกันได้ว่าในสองสามนาทีนี้ คุณจะเห็นมุมมองที่น่าสนใจมากกว่าแบบเดิมแน่นอน เมื่อเจอมุมที่น่าสนใจแล้ว ให้คุณถือกล้องขึ้นมาแล้วมองผ่านช่องมองภาพเพื่อทดสอบมุมที่เห็น ทันทีที่คุณเจอมุมที่สมบูรณ์แบบ (ไม่ใช่แค่มุมสะดวกที่สุด) แล้วค่อยตั้งขาตั้งกล้อง แล้วเริ่มถ่ายภาพ การที่ชอบทำอะไรแปลกประหลาดกว่าคนอื่น ๆ เพื่อให้ได้ภาพที่ดีกว่า นั้นเป็นหนึ่งในความลับสุดยอดของช่างภาพมืออาชีพที่เขาใช้กันทุกวัน (ช่างภาพผู้เป็นตำนานด้านภาพทิวทัศน์ จอห์น ชอว์ ได้สอนเทคนิคนี้มาเป็นปี ๆ แล้ว) พวกเขาจะไม่ถ่ายภาพในมุมมองที่เหมือนกับของคนอื่น ๆ แต่เขาจะสำรวจสถานที่ มองหามุมที่ดีที่สุด, ภาพที่ดีที่สุด และจุดชมวิวที่น่าสนใจ จากนั้นเขาจึงค่อยตั้งขาตั้งกล้อง เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย (สำรวจสถานที่ก่อนที่คุณจะถ่ายภาพ) แต่สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้แหละที่ทำให้ช่างภาพธรรมดากลายเป็นช่างภาพมืออาชีพ

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แสดงขนาดของภาพให้ได้สัดส่วนอย่างไรดี

หากคุณได้มีโอกาสถ่ายภาพอย่างต้น Redwood ในรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือนุสาวรีย์หินในรัฐยูท่า (Utah) คุณอาจจะรู้สึกหงุดหงิดเมื่อดูภาพเหล่านั้นในภายหลัง แล้วพบว่าภาพมีขนาดไม่เท่าของจริง เช่นต้น Redwood ที่มีขนาดกล้างกว่ารถบรรทุก แต่กลับกลายเป็นว่าในภาพถ่ายของคุณมันเป็นแค่ต้นสนเล็ก ๆ ที่อยู่ในสนามหลังบ้าน เพราะสัดส่วนของภาพคลาดเคลื่อนไป เมื่อคุณต้องการให้วัตถุมีสัดส่วนที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ให้คุณใช้วิธีนี้ คุณจะเห็นว่าช่างภาพหลายท่านชอบถ่ายภาพทิวเขากับผู้คนให้อยู่ในฉากเดียวกัน (ภาพนักไต่เขา, นักปีนหน้าผา เป็นต้น) เพราะคุณสามารถเปรียบเทียบสัดส่วนของภาพได้ชัดเจน ผู้ชมจะรับรู้จากภาพได้ทันทีว่าภูเขา หรือต้น Redwood หรือต้นสนที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน ครั้งหน้าหากคุณต้องการถ่ายภาพที่แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของสิ่งต่าง ๆ ให้ลองถ่ายคนเข้าไปในฉากนั้น แล้วคุณก็จะได้ภาพที่ทุกคนสามารถรู้ถึงความแตกต่างของขนาดได้ทันที การถ่ายคนเข้าไปในฉากจะทำให้ภาพของคุณดูมีพลังมากขึ้น (หมายเหตุ : วิธีนี้ยังใช้ได้ผลกับสิ่งของที่มีขนาดเล็กมาก) ลองนำสิ่งของขนาดเล็กใส่บนมือของใครบางคน เท่านี้ภาพก็จะบอกเรื่องราวได้ในทันที

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หลีกเลี่ยงแสงกะพริบตัวร้าย

หากคุณมองที่หน้าจอ LCD แล้วเห็นแสงกะพริบปรากฏขึ้นในพื้นที่สำคัญของภาพ (เช่น ก้อนเมฆ, เสื้อเชิ้ตสีขาวของใครบางคน, หิมะ และอื่น ๆ ) ให้คุณใช้ระบบชดเชยแสง โดยทั่วไปแล้ว คุณสามารถลดแสงให้ต่ำลงจนกระทั่งแสงกะพริบนั้นหายไป ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาทดสอบ (ลองผิดลองถูก) เพื่อดูว่าจะต้องลดแสงมากเท่าไหร่ ตามปกติแล้วจะใช้เวลาแก้ไขในไม่กี่วินาที เอาล่ะเรามาดูซิว่าจะใช้ระบบชดเชยแสงได้อย่างไร

กล้อง Nikon : กดปุ่ม Exposure Compensation ที่ปรากฏอยู่ด้านหลังปุ่มชัตเตอร์ (ดังภาพด้านบน) จากนั้นเลื่อนคำสั่งจนกระทั่งระบบชดเชยแสงอ่านได้ว่า -1/3 (นั่นคือ ลบเศษหนึ่งส่วนสามของ Stop) ตอนนี้ถ่ายภาพเดิมอีกครั้งแล้วดูว่าแสงหายไปหรือยัง หากยังไม่หายก็ให้ทำตามวิธีเดิมอีกครั้งแต่ลดค่าแสงลงอีก มันจะอ่านได้ว่า -2/3 ของ Stop ปรับไปเรื่อยๆ จนกว่าแสงจะหายไป

กล้อง Canon : เปิดโหมด Dial ไปยังโหมด Creative Zone ยกเว้นโหมดแมนวล จากนั้นตั้งค่า ชดเชยแสงโดยเปิดแป้นป้อนคำสั่งที่ฝาหลัง (Quick Control) แล้วใช้การตั้งค่าที่ผมได้บอกแล้ว

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เปิด “แสงกะพริบ” เพื่อช่วยให้เห็นรายละเอียดของภาพมากยิ่งขึ้น

ตามปกติแล้วเราไม่ได้เรียกมันว่า แสงกะพริบ หรอกครับ (เป็นชื่อเล่นที่เราเรียกกันเท่านั้น) อันที่จริงชื่ออย่างเป็นทางการของมันก็คือ Highlight Warning (หรือ Highlight Alert) ใช้ในการปรับแสงให้เหมาะสม คำสั่ง Warning นี้ จะแสดงให้เห็นภาพในส่วนที่มีแสงมากเกินไป ทำให้ไม่เห็นรายละเอียดตรงพื้นที่ส่วนนั้น หากคุณช่างสังเกตคุณจะเห็นแสงที่มีมากเกินไปเกิดขึ้นบ่อยครั้งในภาพถ่าย ตัวอย่างเช่น ในวันที่อากาศมืดครึ้ม อาจจะเกิดภาพเมฆที่เปลี่ยนไปจากเดิมได้ (เปลี่ยนเป็นสีขาวที่ไม่เห็นรายละเอียดใด ๆ ข้างใน) เพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ง่าย ๆ เลย เพียงแค่เปิด Highlight Warning แล้วมาดูว่ามันทำงานได้อย่างไร เมื่อคุณเปิด Highlight Warning แล้วมองที่จอ LCD ในส่วนของภาพที่เสียหายจะเริ่มส่องแสงกะพริบช้า ๆ แต่แสงกะพริบเหล่านี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป ตัวอย่างเช่น หากคุณถ่ายภาพในที่ที่เห็นพระอาทิตย์ได้ อย่างชัดเจน ก็อาจจะเกิดแสงกะพริบขึ้นมา (ผมไม่ได้หมายถึงแสงของพระอาทิตย์นะครับ ผมหมายถึงลูกลม ๆ แดง ๆ ของพระอาทิตย์) เราจะไม่เห็นรายละเอียดที่ผิวของพระอาทิตย์ ดังนั้นผมจะผ่านเรื่องนี้ไป อย่างไรก็ตามหากเมฆของคุณมีแสงกะพริบเกิดขึ้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง วิธีที่เร็วที่สุดที่จะแก้ปัญหานี้ก็คือ ใช้ระบบชดเชยแสง (Exposure Compensation) ที่อยู่ในกล้อง (รายละเอียดในหน้าถัดไป) ตอนนี้คุณต้องแน่ใจว่าเปิด Highlight ปรากฏขึ้นมาใต้ภาพบนหน้าจอ LCD หากคุณใช้กล้อง Cannon (เช่น รุ่น 20D, 30D หรือ Rebel) กดปุ่มเพื่อดูภาพจากนั้นกดปุ่ม Info เพื่อให้มองเห็นแสงกะพริบในภาพได้

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เคล็ดลับที่ทำให้ภาพพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกดูนุ่มนวลมากขึ้น



ทริคที่ทำให้ภาพพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกดูนุ่มนวลขึ้นนี้ ได้มาจากบิล ฟอร์ดนีย์ สำหรับผู้ถ่ายภาพด้วยกล้อง Nikon ให้คุณไปที่เมนูแล้วเลือก Daylight เป็นค่า White balance จากนั้นกดที่ปุ่มลูกศรด้านขวา Fine-Tune ปรับค่าเป็น -3 (ดังภาพด้านบน) แล้วคลิก OK หากคุณถ่ายภาพด้วยกล้อง Cannon ให้คุณไปที่ WWW.scottkelbybooks.com/warmbal เพื่อดูวิธีการตั้งค่า White Balance เป็นขั้นเป็นตอนอย่างสมบูรณ์สำหรับกล้อง Cannon ได้

หมายเหตุ : อย่าลืมปิดการตั้งค่านี้เวลาที่คุณไม่ได้ถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก อันที่จริงมันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับภาพหรอกครับ เพียงแต่ภาพของคุณจะดูนุ่มนวลขึ้นอีกนิดหน่อย

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เราจะใส่เส้นขอบฟ้าไว้ที่ไหนดีล่ะ

เมื่อคุณมีคำถามขึ้นมาว่า ผมจะวางเส้นขอบฟ้าไว้ที่ไหนดีล่ะ คำตอบนั้นง่าย มาก ๆ เพียงแค่คุณอย่าวางเส้นขอบฟ้าไว้ตรงกลางของภาพ เพราะภาพวิวทิวทัศน์ของคุณจะเหมือนกับภาพที่ถ่ายแบบไม่ตั้งใจ ก่อนอื่นคุณควรรู้ว่าสิ่งไหนที่คุณต้องการเน้นในภาพ ท้องฟ้าหรือพื้นดิน หากท้องฟ้าสวยก็ให้วางเส้นขอบฟ้าประมาณ 1 ใน 3 จากพื้นดินด้านล้าง (ซึ่งจะเน้นที่ท้องฟ้า) หากพื้นดินดูน่าสนใจ ทำให้พื้นดูเด่นขึ้นด้วยการวางเส้นขอบฟ้าประมาณ 1 ใน 3 จากท้องฟ้าด้านบน ซึ่งจะเน้นพื้นให้ดูเด่นขึ้น การถ่ายภาพแบบนี้จะช่วยให้เส้นขอบฟ้าไม่อยู่ตรงกลาง ซึ่งทำให้ภาพของคุณมีมิติและน่าสนใจมากขึ้นด้วย

เบื่อท้องฟ้าเดิม ๆ ใช่มั้ย? เรามาแหกกฎกันดีกว่า

หากคุณกำลังถ่ายภาพท้องฟ้าที่ดูว่างเปล่าไม่มีอะไรน่าสนใจให้คุณแหกกฎ 1 ใน 3 ของเส้นขอบฟ้าแล้วลบท้องฟ้าให้มากที่สุดโดยให้ห่างจากพื้นประมาณ 7/8 และท้องฟ้า ประมาณ 1/8 ซึ่งจะปิดท้องฟ้าเพื่อให้ฉากหน้าดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ถ่ายภาพภูเขาให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

เนื้อหาสำคัญที่คุณมักจะพบ คือ เรื่องของการถ่ายภาพในมุมมองที่เราไม่ได้เห็นกันทุกวัน ตัวอย่างเช่น หากสิ่งที่คุณจะถ่ายคือภูเขา คุณก็ไม่ควรถ่ายจากข้างล่างของภูเขา เพราะภาพที่ถ่ายออกมาเหมือนภาพภูเขาที่เราเห็นระหว่างที่ขับรถไปต่างจังหวัด ดังนั้นหากคุณถ่ายภาพแบบนั้น (ถ่ายจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน) คุณก็จะได้ภาพที่ธรรมดามาก ๆ แต่หากคุณต้องการสร้างภาพภูเขาที่สามารถดึงดูดความสนใจและเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นทั่ว ๆ ไป แล้วละก็ ให้คุณถ่ายจากข้างบนสูงขึ้นไป โดยขับรถขึ้นไปให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้บนภูเขาหรือปีนขึ้นไปข่างบนจนถึงจุดที่ปลอดภัย จากนั้นตั้งค่ากล้องแล้วถ่ายลงมา หรือถ่ายผ่านเขาที่ตัดผ่านกันก็ได้ (ใช้ทฤษฎีเดียวกันกับการถ่ายดอกไม้ ที่เราไม่ก้มลงถ่ายเพราะเป็นมุมที่เราเห็นกันเป็นประจำ ในทางกลับกันเราจะไม่เงยหน้าขึ้นถ่ายภูเขา เพราะเรามักจะเห็นภาพนี้บ่อยครั้ง มันจะดูน่าเบื่อ, ธรรมดา และไม่แสดงให้ผู้ชมเห็นอะไรในภาพที่คุณถ่ายเลย)

เคล็ดลับการถ่ายภาพป่า

คุณอยากรู้เคล็ดลับการถ่ายภาพในป่ามั้ย ก็แค่ไม่ต้องถ่ายพื้นดินเข้าไปในภาพด้วย ถูกต้องเพราะพื้นดินมักจะดูรกอย่างน่าเหลือเชื่อ (ด้วยกิ่งไม้แห้ง, ใบไม้แห้ง) นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ช่างภาพมืออาชีพหลายคนไม่ถ่ายรวมพื้นดินเข้าไปด้วย เพราะมันจะแย่งความสวยงามของต้นไปออกไป ง่าย ๆ เลย ให้คุณวางกรอบที่จะถ่ายไม่ให้เห็นพื้นดิน แล้วคุณจะถ่ายภาพป่าได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าพื้นดินดูสวยก็ให้คุณถ่ายรวมเข้าไปในภาพด้วย กฎของการถ่ายภาพป่าคือ ให้คุณถ่ายภาพในวันที่มีเมฆครึ้ม อากาศแบบนี้ล่ะที่เหมาะสำหรับถ่ายภาพ เพราะยากมาก ๆ ที่จะถ่ายภาพในสภาพที่มีแสงและแดดแรงกล้า อย่างไรก็ตามกฎนี้ยังมีข้อยกเว้น หากมีบรรยากาศ (หมอก หรือควันจาง ๆ) ในป่าในวันที่อากาศสดใส รังสีของดวงอาทิตย์จะตัดผ่านหมอกหรือควันจนกลายเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจได้

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เคล็ดลับการถ่ายภาพน้ำตก

คุณอยากถ่ายภาพน้ำตกให้พลิ้วไหวดังแพรไหม หรือถ่ายภาพให้เหมือนภาพที่ช่างภาพมืออาชีพถ่ายบ้างหรือเปล่า? ความลับของมืออาชีพในการถ่ายภาพน้ำตกคือการเปิดชัตเตอร์ทิ้งไว้ (อย่างน้อยหนึ่งหรือสองวินาที) แล้วน้ำก็จะเคลื่อนไหวในขณะที่อย่างอื่น (เช่น หินและต้นไม้ต่าง ๆ ที่ล้อมรอบน้ำตกหรือสายน้ำ) ยังคงหยุดนิ่ง สิ่งที่คุณเคยทำ คือ ปรับที่โหมด Shutter Priority (ตัวอักษร S หรือโหมด Tv) แล้วตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ 1 หรือ 2 วินาที หากคุณถ่ายภาพน้ำตกในวันที่ท้องฟ้ามืดครึ้มเล็กน้อยและปิดชัตเตอร์ทิ้งไว้จะทำให้แสงเข้ามาข้างในมากเกินไป จนทำให้ภาพเป็นสีขาวไปทั้งหมด ตามช่างภาพมืออาชีพมา แล้วทำตามวิธีดังต่อไปนี้ (1) เขาถ่ายภาพน้ำตกเหล่านี้ตอนพระอาทิตย์ขึ้นหรือหลังพระอาทิตย์ตก เมื่อมีแสงน้อยลง หรือ (2) ใช้ฟิลเตอร์ Stop-down ซึ่งเป็นฟิลเตอร์ที่ทำให้มืดเป็นพิเศษที่จะช่วยกันไม่ให้แสงเข้าไปในกล้องของคุณ ด้วยวิธีนี้คุณสามารถเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ได้ครู่หนึ่ง แสงเล็กน้อยที่เข้ามาก็จะไม่ทำให้ภาพเสียไป และคุณก็จะได้ภาพน้ำที่พลิ้วไหวดั่งแพรไหม ตอนนี้หากคุณไม่มีฟิลเตอร์ Stop-down ให้คุณเข้าไปที่น้ำตกหรือลำธารที่อยู่ลึกเข้าไปในป่า (และมีแสงเงาลึกเข้าไป) คุณสามารถทำเอฟเฟ็กต์ได้ดังนี้ คือ ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง ปรับและตั้งค่าโหมด Aperture Priority ให้สูงที่สุดเท่าที่เลนส์จะทำได้ (ประมาณ f/22 หรือ f/36) ซึ่งจะปล่อยใข้ชัตเตอร์เปิดได้นานขึ้นกว่าปกติ แล้วคุณก็จะได้น้ำที่ดูนุ่มนวลดั่งแพรไหมเช่นกัน

เคล็ดลับการถ่ายภาพน้ำตก คือ ขณะที่คุณถ่ายภาพน้ำตก หากคุณไม่มีฟิลเตอร์ Stop-down ให้ใส่ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ เข้าไปแทนเพื่อ (1) ตัดแสงสะท้อนในน้ำตกและบนหิน และ (2) ทันทีที่มืดลงมันจะกลืนแสงประมาณ 2 Stop ให้คุณ ดังนั้นคุณถึงสามารถถ่ายให้มีแสงยาวกว่า และการเลือกความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าก็จะทำให้น้ำพลิ้วดั่งแพรไหม คุณควรลองความเร็วชัตเตอร์ที่ต่างกัน (4 วินาที, 6 วินาที, 10 วินาที เป็นต้น) แล้วดูว่าแบบไหนให้ผลการถ่ายภาพได้ดีที่สุด

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้เหมือนมืออาชีพ/5

หากคุณได้หยิบนิตยสารท่องเที่ยวที่มีภาพทิวทัศน์สวย ๆ หรือมีโอกาสได้ชมงานต่าง ๆ ของช่างภาพดิจิตัลด้านทิวทัศน์ระดับปรมาจารย์ อย่าง เดวิด มูอีฟ, มูส ปีเตอร์สัน, จันห์นสัน และ จอห์น ชอว์ ให้คุณใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่อศึกษาภาพอันน่ามหัศจรรย์เหล่านั้น สิ่งหนึ่งที่คุณจะพบมากก็คือ ภาพเหล่านี้มีสิ่งที่ต่างกันอยู่ชัดเจน 3 ข้อ (1) ฉากหน้า หากคุณกำลังถ่ายในช่วงพระอาทิตย์ตกเราจะไม่เริ่มถ่ายตอนที่พระอาทิตย์อยู่ในทะเล แต่เราจะเริ่มที่หาดทรายโดยใช้ชายหาดเป็นฉากหน้า (2) หากมีฉากตรงกลาง ในการถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก ฉากตรงกลางอาจจะเป็นพื้นน้ำสะท้อนกับพระอาทิตย์หรืออาจเป็นตัวพระอาทิตย์เองก็ได้ และข้อสุดท้าย คือ (3) ฉากหลัง คือฉากที่พระอาทิตย์ตก, ก้อนเมฆและท้องฟ้า ซึ่งคุณต้องถ่ายองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้รวมกัน เพื่อให้ได้ภาพทิว ทัศน์ที่สวยจับตาจ้องใจ ในครั้งต่อไปขณะที่คุณกำลังออกไปถ่ายภาพ ให้ถามตัวเองก่อนว่า ฉากหน้าของฉันอยู่ที่ไหน?” (เพราะฉากหน้าคือหนึ่งในฉากที่ช่างภาพมือสมัครเล่นลืมมากที่สุดรวมถึงฉากตรงกลางและฉากหลังทั้งหมดด้วย) โปรดจำ 3 ข้อนี้ เอาไว้ ในใจขณะถ่ายภาพ มันจะช่วยคุณบอกเรื่องราวของคุณ, ช่วยให้คุณเบิกตากว้างและช่วยให้ภาพทิวทัศน์ของคุณมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้นด้วย

ข้อดีอีกข้อของการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น

ข้อดีของการถ่ายภาพตอนพระอาทิตย์ขึ้นอีกข้อหนึ่ง (ที่มีมากกว่าถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก) ก็คือน้ำ (ในสระ, ทะเลสาบ, อ่าว เป็นต้น) จะนิ่งในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น เพราะในช่วงเช้าจะมีลมพัดน้อยกว่าในช่วงสาย ดังนั้นหากคุณกำลังมองหากระจกสะท้อนในทะเลาสาบ คุณจะได้ภาพที่เอฟเฟ็กต์จากพระอาทิตย์ขึ้นมากกว่าถ่ายภาพในตอนพระอาทิตย์ตก

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้เหมือนมืออาชีพ/4

ถ่ายในโหมด APERTURE PRIORITY สิง่ายกว่า

โหมดที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพของช่างภาพมืออาชีพก็คือโหมด Aperture Priority (หรือ ตัว อักษร A หรือ Av ที่โหมด Dial ของกล้องดิจิตัล) และเหตุผลที่ทำให้โหมดนี้ได้รับความนิยมมากก็คือว่า มันจะให้คุณตัดสินใจได้ว่าคุณจะสร้างสรรค์ภาพของคุณได้อย่างไร อย่างเช่น คุณกำลังถ่ายภาพเสือด้วยเลนซ์ซูมเทเลโฟโต้ และคุณต้องการให้เสือ (ซึ่งอยู่ที่ฉากหน้าของภาพ) อยู่ในโฟกัส และให้ฉากหลังไม่อยู่ในโฟกัสได้ง่าย ๆ ด้วยการตั้งค่าในโหมด Aperture Priority โดยตั้งค่า รูรับแสงของเลนส์ให้ต่ำที่สุดเท่าที่เลนส์สามารถปรับได้ (ตัวอย่างเช่น f/2.8, f/4, f/5.6 เป็นต้น) จากนั้นโฟกัสไปที่เสือ เท่านี้ก็เรียบร้อย เพราะกล้อง (และเลนส์เทเลโฟโต้) จะจัดการที่เหลือให้เอง แล้วคุณก็จะได้ภาพเสือที่คมชัดและภาพหลังทั้งหมดที่ไม่อยู่ในโฟกัส คุณจะได้เรียนรู้ทริคของค่ารูรับแสง 3 ข้อดังนี้ ทริคแรกคือให้ค่ารูรับแสง (และเลนส์ซูม) ต่ำ ซึ่งจะทำให้ฉากหน้าอยู่ในโฟกัส ขณะที่ฉากหลังไม่อยู่ในโฟกัส ทริคที่สองของโหมด Aperture Priority คือ อยากให้ทั้งเสือและฉากหลังอยู่ในโฟกัสจะทำอย่างไร (คุณอยากเห็นเสือและสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวมันชัด ๆ ใช่มั้ย) คุณสามารถปรับรูรับแสงให้เป็น f/8 หรือ f/11 ค่าสองตัวนี้ทำงานได้อย่างดี เมื่อคุณต้องการถ่ายภาพให้เหมือนอย่างที่ตาเห็น (โดยไม่ต้องสัมผัสปุ่มเพื่อให้ฉากหลังไม่อยู่ในโฟกัส) ฉากหลังที่อยู่ไกลออกไป (ฉากข้างหลังเสือ) จะไม่อยู่ในโฟกันแต่ไม่มากเท่าไหร่ และทริคที่สามคือ ค่ารูรับแสงที่ควรใช้เมื่อคุณต้องการให้ภาพอยู่ในโฟกัสมากเท่าที่จะเป็นไปได้(ฉากหน้า, ตรงกลาง, ฉากหลังรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง) เพียงแค่คุณเลือกค่ารูรับแสงสูงสุดของเลนส์ที่ (f/22, f/36 เป็นต้น)

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้เหมือนมืออาชีพ/3


ขาตั้งกล้องที่รัก

หากคุณเป็นช่างภาพมืออาชีพ ชีวิตประจำวันของคุณจะกลายเป็นแบบนี้ ตื่นนอนตอนเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและพลาดมื้อเย็นทุกมื้อ หากคุณตกลงที่ใช้ชีวิตแบบนี้ ถึงเวลาที่ผมจะต้องบอกความจริงที่หนักหนาสาหัสอีกข้อหนึ่ง ทันทีที่คุณกำลังถ่ายภาพในสภาวะที่มีแสงน้อยตลอดเวลา คุณจึงต้องถ่ายบนขาตั้งกล้องตลอดเวลาและอย่างที่ช่างภาพทิวทัศน์ทั่วโลกปฏิบัติกันตลอดมา เขาจะไม่ใช้มือถือกล้องแล้วถ่ายภาพโดยเด็ดขาด ตอนนี้ต้องเตือนก่อน บางครั้งคุณจะพบว่าช่างภาพทิวทัศน์จะออกไปในตอนเช้าตรู่ พอเช้าอีกวันก็อาจจะต้องถ่ายภาพซ้ำอีกครั้ง เพราะพวกเขาใช้มือถือในการถ่าย ตอนแรกเขาจะยังไม่รู้ว่าภาพเป็นอย่างไรจนเปิดภาพดูในโปรแกรม Photoshop นั่นล่ะ ภาพที่ถ่ายออกมาทั้งเบลอ, เป็นเงามืดแถมไม่อยู่ในโฟกัสอีกต่างหาก อย่างที่คุณเคยเห็นมา แล้วทีนี้คุณจะช่วยพวกเขายังไงดี ล่ะ? ย่องเข้าหาเขาเงียบ ๆ คว้าขาตั้งกล้องขึ้นมาฟาดพวกเขาจนตายคาที่อย่างที่ โจ แมคแนลลี่ ทำยังงั้นหรือ (ล้อเล่นครับ)

ข้อดีของการใช้ขาตั้งกล้องแบบคาร์บอนไฟเบอร์

ขาตั้งกล้องที่มาแรงที่สุดขณะนี้คือขาตั้งแบบคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งข้อดีของขาตั้งกล้องที่ทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ต่างกับขาตั้งกล้องอื่น 2 ข้อ คือ (1) น้ำหนักเบากว่า ขาตั้งกล้องแบบโลหะ และคงความทนทานและความมั่นคงเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และ (2) คาร์บอนไฟเบอร์เมื่อกระทบกันจะไม่เกิดเสียงสะท้อนเหมือนโลหะ ดังนั้นโอกาสที่เกิดความสั่นไหวนั้นมีน้อยมาก แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของคาร์บอนไฟเบอร์ที่คุณอาจเดาได้ก็คือมันมีราคาแพงนั่นเอง

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้เหมือนมืออาชีพ/2

กฎทองของการถ่ายภาพทิวทัศน์

เรามีกฎในการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่คุณจะต้องได้ใช้อย่างแน่นอน แต่หากคุณไม่ทำตามกฎอย่างเคร่งครัดแล้วละก็ คุณก็จะไม่มีทางถ่ายภาพได้เหมือนมืออาชีพหรอกนะครับ ดังที่ช่างถ่ายภาพทิวทิศน์บอกไว้ว่า ในหนึ่งวันคุณสามารถถ่ายภาพได้ 2 ช่วงเวลา คือ (1) ช่วงเช้าโดยคุณมีเวลาถ่ายภาพ 15-30 นาที ก่อนพระอาทิตย์ตกและมีเวลาถ่ายภาพ คือ (2) ช่วงเย็น คุณมีเวลาถ่ายภาพ 15-30 นาทีก่อนพระอาทิตย์ตกและมีเวลาถ่ายภาพอีก 30 นาที หลังจากนั้น แล้วทำไมต้องเป็น 2 ช่วงเวลานี้ด้วยล่ะ ? ก็เพราะเป็นกฎยังไงล่ะครับ เพราะช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วงเวลาเดียวของวันที่คุณจะได้แสงที่อบอุ่น เงาที่นุ่มนวลที่ให้คุณภาพแสงอย่างมืออาชีพ มีวิทยากรท่านหนึ่ง โจ แมคแนลลี่ ท่านเป็นตำนานช่างภาพแห่งนิตยสาร National Geographic ท่ามกลางฝูงชนที่เบียดเสียดกันอยู่นั้นมีผู้ชายคนหนึ่งถามโจว่า คุณถ่ายภาพแค่ช่วงเช้ากับช่วงเย็นจริงเหรอ?” โจคว้าขาตั้งกล้องอย่างเงียบ ๆ แล้วฟาดไปที่ผู้ชายคนนั้นจนตาย (โทษทีครับเกินจริงไปนิดนึง) สิ่งที่โจบอกนั้นผมจำติดตัวตลอดเวลา เขาบอกว่า ทุกวันนี้บรรณาธิการด้านภาพหลาย ๆ คน (จากนิตยสารยักษ์ใหญ่) มีความรู้สึกอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาจะไม่หรือแม้แต่พิจารณา ดูภาพทิวทัศน์ไม่ว่าจะเป็นของเขาเองหรือของช่างภาพคนอื่น ๆ หากภาพเหล่านั้นไม่ได้ถ่ายในช่วงเช้าและเย็น และพวกเขายังบอกอีกว่า ดูสิภาพพวกนี้ไมได้ถ่ายในช่วงนั้นเลยนี่ แต่ก็สวยแปลกตาดี แต่กระนั้น พวกเขาก็ยังปฏิเสธที่มองภาพเหล่านั้นอยู่ดี ประเด็นสำคัญคือ ช่างภาพทิวทัศน์มืออาชีพหลายต่อหลายคนจะถ่ายภาพแค่สองช่วงเวลาในแต่ละวัน แค่เพียงสองเวลาเท่านั้นที่เป็นช่วงเวลาเดียวที่คุณจะถ่ายภาพให้เหมือนมืออาชีพได้

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้เหมือนมืออาชีพ/1

หากคุณเคยถ่ายภาพนอกสถานที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างน้ำตกแกรนด์แคนยอน (Grand Conyon) หรืออุทยานแห่งชาติ Yosemite คงเป็นประสบการณ์การถ่ายภาพที่มิรู้ลืมเลยทีเดียว แต่ภาพที่คุณเห็นว่าสวยนักทำไมเมื่อถ่ายออกมากลับไม่เป็นไปตามที่คุณหวัง ทั้ง ๆ ที่คุณตั้งขาตั้งกล้อง มองผ่านช่องมองภาพแล้วถ่าย ภาพตามปกติ คุณเริ่มคร่ำครวญอย่างเงียบ ๆ เพราะคุณลงทุนซื้ออุปกรณ์กล้องถ่ายภาพ ราคาแพงพร้อมกับวัสดุตัวกล้องและเลนส์ชนิดต่าง ๆ ที่มีราคาสูงกว่ารถยนต์โตโยต้า รุ่น Prius แบบไฮบริด เสียอีก คุณมีฟิลเตอร์มากกว่ารานขายอุปกรณ์กล้อง และกระเป๋าใส่กล้องของคุณก็หนักเป็นกิโล ๆ อีกทั้งคุณต้องเก็บหอมรอมริบทั้งปีเพื่อไปท่องเที่ยว, ซื้อตั๋วเครื่องบินไปกลับ และเช่ารถอเนกประสงค์คันใหญ่ที่พอจะขนส่งคุณ, สมาชิกในครอบครัว และอุปกรณ์ราคาแพงทั้งหมดขึ้นไปยังน้ำตกแกรนด์แคนยอนในช่วงฤดูร้อนที่แสนจะร้อนระอุ ตอนนี้คุณกำลังมองผ่านช่องมองภาพแต่ภาพที่คุณเห็นก็ไม่ได้สวยสักครึ่งหนึ่งของโปสการ์ดราคาถูก ๆ ที่วางขายในร้านขายของที่ระลึกเลย น้ำตาคุณเริ่มไหลอาบแก้มทันทีที่รู้ว่าคุณถ่ายภาพเทียบกับโปสการ์ดไม่ได้เลย แล้วทั้งหมดเป็นความผิดของใครล่ะ เขาล่ะ แอนเซิล อดัมส์ เพราะเขาคือช่างภาพผู้โด่งดัง ผู้ตระเวนถ่ายภาพ แกรนด์แคนยอน, อุทยานแห่งชาติ Yosemite และสถานที่อีกหลายต่อหลายแห่ง และแม้ว่าเราไม่ใช่ แอนเซิล อดัมส์ เราก็แน่ใจได้ว่าภาพของเราจะดูสวยกว่าโปสการ์ดที่ขายในร้านขายของที่ระลึกใช่มั้ย งั้นมาเริ่มต้นด้วยกันเลย